“กอบชัย” โชว์ผลสำเร็จโครงการ “Big Brother” เผยเอกชนโดดร่วมโครงการแล้วกว่า 350 ราย ตั้งเป้ายกระดับเอสเอ็มอีทุกสาขา 20,000 ราย ภายในปี 61
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 61 อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยเอกชนรายใหญ่กว่า 350 รายตอบรับเข้าร่วมโครงการพี่ช่วยน้อง “Big Brother Guarantee Success Solution” โชว์ผลงาน 4 ด้าน คือ ด้านศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ด้านการตลาด ด้านการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) และด้านเกษตรแปรรูป ตั้งเป้าภายในปีงบประมาณ 2561 จะสามารถยกระดับเอสเอ็มอีและเชื่อมโยงการค้าไปยังตลาดสากลได้กว่า 20,000 ราย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยความก้าวหน้าโครงการพี่ช่วยน้อง “Big Brother Guarantee Success Solution” โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย ผู้แทนจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) ผู้แทนจาก บริษัท เถ้าแก่น้อย ผู้แทนจาก ผู้แทนจาก บริษัท SCG จำกัด และผู้แทนจาก บริษัท A Cup of Joe โดยระบุว่า โครงการนี้มุ่งหวังเชื่อมต่อเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ในการเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจพร้อมเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ยกระดับเทคโนโลยี สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยอาศัยความร่วมมือในการเป็นจิตอาสาของบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดเล็กให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทตอบรับเป็น Big Brothers และเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 350 ราย
“ที่ผ่านมาแนวทางความร่วมมือกับบริษัทที่ร่วมเป็น Big Brother ได้เข้ามาดำเนินการพัฒนาเอสเอ็มอีร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ใน 4 ด้าน โดยมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรม คือ 1.BIG BROTHER FOR ITC ช่วยด้านกระบวนการปฏิรูป หรือการ Transform ในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต เพิ่มทักษะผู้ปฏิบัติงาน (Product, Process and People) 2.BIG BROTHER FOR Marketing ช่วยด้านการตลาดซึ่งมีการช่วยเหลือทั้งแบบ Offline/Online สร้างแบรนด์ และจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งการมีสถานที่สำหรับทดสอบตลาด เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค 3.BIG BROTHER FOR CIV หรือหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เน้นช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/OTOP โดยนำอัตลักษณ์ของสินค้าและบริการที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนา เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าเพื่อส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ทุกพื้นที่โดยเน้นการสร้างงานให้กับคนในชุมชนและพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นในทุกมิติ และ 4.BIG BROTHER FOR Processed Agriculture เน้นด้านเกษตรแปรรูปโดยการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรด้วยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งจากรูปแบบการดำเนินงานพบว่าแต่ละพื้นที่จะมีผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบของสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน รวมทั้งบริษัทที่มาเป็นพี่เลี้ยงมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ แต่สามารถดำเนินการข้ามพื้นที่หรือดำเนินการร่วมกันได้” นายกอบชัย กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการโครงการ Big Brother ที่ผ่านมามีความร่วมมือในด้านต่างๆ สามารถยกตัวอย่างความร่วมมือแต่ละประเภทได้ อาทิ ในด้านศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0(ITC) : บริษัท พีทีที เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เริ่มโครงการโดยการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Customer Solution Center) ณ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม กล้วยน้ำไทย ภายใต้ชื่อ อาคารต้นคูณ เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกให้กับผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นนวตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ พร้อมการออกแบบที่ตรงต่อความต้องการลูกค้าโดยมีโครงการนำร่องหลายๆโครงการ อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันพลาสติกและผู้ประกอบการอื่นๆ ใน Value Chain เพื่อพัฒนาถุงทวารเทียม เพื่อทดแทนการนำเข้า นอกจากนี้ GC ยังมองไปถึงปลายทางในเรื่องของการนำกลับมาใช้ใหม่โดยกระบวนการ Upcycling เปลี่ยนขยะพลาสติกไปสู่สินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มในหลายๆอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนที่ดีขึ้น โดย GC ได้นำร่องการดำเนินกิจกรรมไปแล้วกับโรงงานอุตสาหกรรมพลาสติกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ GC ช่วยเสริมส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในงานแสดงสินค้า และสื่อประชาสัมพันธ์ ตลอดจนแนะนำกลุ่มลูกค้ามุ่งหวัง และช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย ด้านการตลาด : บริษัทเถ้าแก่น้อย ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด ที่ปัจจุบันมี 14 สาขาทั่วประเทศ โดยการให้คำปรึกษาแนะนำพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจและมีผลิตภัณฑ์เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถนำสินค้ามาทดสอบตลาดได้ที่เถ้าแก่น้อยแลนด์ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าแรกเข้า ซึ่งจะมีการดำเนินการ่วมกับกิจกรรมในโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสามารถทดสอบตลาดได้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ด้านการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) : บริษัท SCG เข้าร่วมเป็น Big Brother โดยดำเนินกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตั้งศูนย์กระจายสินค้าในหมู่บ้าน CIV ไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่ง SCG จะนำร่องการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการในหมู่บ้าน CIV และวิสาหกิจชุมชนสามารถมาใช้บริการเพื่อการจัดส่งสินค้าในบริเวณที่ใกล้แหล่งผลิต/ชุมชนได้ ซึ่งนอกจากบริษํท SCG แล้วยังมีบริษัทน้ำตาลทราย มิตรผล ที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรด้ว และด้านเกษตรแปรรูป (Processed Agriculture) : A cup of JOE เป็น Big Brother ด้านเกษตรแปรรูปโดยเน้นผลผลิตทางด้านกาแฟ ซึ่งจะไปพัฒนากรรมวิธีการปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพเพื่อขายให้ได้ราคาที่เหมาะสม ผ่านการประกวดเมล็ดกาแฟจากเวทีต่างๆ โดยจะร่วมกับสมาคมกาแฟพิเศษ ในการให้คำปรึกษาแนะนำเทคนิคต่างๆในการปลูกกาแฟพร้อมทั้งกรรมวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟจนสามารถทำราคาได้สูงขึ้นจากเดิมกิโลกรีมละ 60 บาท เป็น 300 บาท และยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทที่มีจิตอาสาและสนใจเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงในโครงการฯ กว่า 350 บริษัท จากหลากหลายอุตสาหกรรมและพื้นที่ โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดฝึกอบรม,การให้คำปรึกษาแนะนำ,การส่งเสริมและพัฒนาด้นการตลาดทั้งแบบ Offline-Online ให้กับผู้ประกอบการ และการทำ Business Matching เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจรับบริการจากโครงการ Big Brother สามารถเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคในพื้นที่ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม