ก.วิทย์ฯ - สวทช. เผย “10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามอง” พร้อมโชว์ผลงานวิจัยน่าลงทุน ขับเคลื่อนประเทศด้วย วทน. ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 549 Reads   

ในวันที่ 6 กรกฎาคม ณ ห้องภิรัชฮอล์ 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าลงทุนประจำปี 2561 หรือ “นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์ (NSTDA Investors’ Day 2017)” ภายใต้งาน Thailand Tech Show 2018 ที่ สวทช. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสริมแกร่งธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรม” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดนวัตกรรมให้กับนักลงทุนเป้าหมายและผู้ประกอบการไทย ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พัฒนากระบวนการผลิตให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Thai Tech Expo 2018 ที่กระทรวงวิทย์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 8 กรกฎาคม 2561 ที่ไบเทค บางนา


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานเปิดงาน นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์ (NSTDA Investors’ Day 2018)  ในงาน Thailand Tech Show 2018 กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าลงทุนของ สวทช. ตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงฯ ให้ความสำคัญและบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ โดยเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม มีช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยสะดวก รวมทั้งผลักดันพัฒนางานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์และสตาร์ทอัพ ผ่านการจัดกิจกรรมดังกล่าวในลักษณะตลาดผู้ซื้อพบผู้ขาย โดย สวทช. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนการส่งเสริมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศให้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของไทย 

“กิจกรรม NSTDA Investors’ Day นี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยนำเสนอผลงานและพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่าง ๆ กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิดการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับนโยบาย “วิทย์เสริมแกร่ง” ของกระทรวงฯ ในด้านการวิจัยและพัฒนา วทน. ให้กับผู้ประกอบการ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้กระทรวงฯ มียังมีหน่วยงานในสังกัดที่มีความสามารถแตกต่างกัน ซึ่งสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้นำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” ผอ. สวทช. กล่าว  

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสริมว่า สวทช. และเครือข่ายความร่วมมือพันธมิตรต่าง ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนต่อยอดผลงานวิจัย วทน. จากหิ้งสู่ห้าง โดยผลักดันการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับผู้ประกอบการและนักลงทุน เชื่อมโยงให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ซึ่งกิจกรรม NSTDA Investors’ Day ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศให้สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เอกชน และชุมชน ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม อย่างไรก็ดี กิจกรรมนี้จัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 9 โดยปีที่ผ่านมามีนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ที่สำคัญกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยจำนวน 12 ผลงาน ร่วมโหวตรางวัล “ผลงานที่น่าลงทุนที่สุด และ รางวัลที่นำเสนอผลงานดีที่สุด” เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยในการคิดค้นนวัตกรรม และนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้รวดเร็วขึ้นตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรม ยกระดับประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ต่อไป  


จับตา 10 เทคโนโลยี “เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต” 

นอกจากนี้ ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ยังได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to Watch)” ซึ่งแนะนำ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่จะส่งผลกระทบในช่วงเวลา 5-10 ปีในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไป เตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อรับผลกระทบทั้งในชีวิตประจำวัน สังคม และเศรษฐกิจ ได้แก่ 

1. แบคทีเรียลดยุงพาหะ (Mosquito-targeted Wolbachia) 
ยุงเป็นพาหะสำคัญของโรคร้ายแรงหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย ไข้เลือดออก และโรคเท้าช้าง เป็นต้น การลดจำนวนยุงด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ดูเหมือนจะได้ผลไม่มากนัก เพราะเริ่มพบตัวที่ดื้อยา ขณะนี้มีโครงการระดับนานาชาติที่นำแบคทีเรียชนิดหนึ่งคือ แบคทีเรียในสกุล โวลบาเชีย (Wolbachia) เข้าร่วมโปรแกรมระดับโลก World Mosquito Program หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า Eliminate Dengue ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ และออสเตรเลีย 
การกำจัดยุงลายด้วย Wolbachia อาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า หากยุงตัวผู้ที่เพาะพันธุ์ขึ้นและมีแบคทีเรียนี้ ไปผสมกับยุงตัวเมียในธรรมชาติที่ไม่มีแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียพวกนี้จะทำให้ไข่ฝ่อ ฟักไม่ได้ แต่หากไปผสมกับยุงตัวเมียที่มีแบคทีเรียนี้อยู่เช่นกัน ก็จะได้ลูกหลานที่มีแบคทีเรียติดตัวไปด้วย ส่วนยุงตัวเมียที่เพาะพันธุ์ขึ้นโดยให้มี Wolbachia ติดไปด้วย เมื่อไปผสมกับยุงตัวผู้ตามธรรมชาติที่ไม่มีเชื้อนี้อยู่ เฉพาะลูกยุงรุ่นใหม่ที่เป็นตัวเมียจะมีแบคทีเรียนี้ติดตัวไปด้วย ยุงที่มีเชื้อ Wolbachia อยู่ในตัวจะไม่สามารถนำโรคได้ เพราะเชื้อก่อโรคไม่อาจเติบโตในตัวพวกมันได้ 
รัฐบาลออสเตรเลียทำโครงการ Eliminate Dengue Program หรือ EDP และประกาศว่าการใช้ Wolbachia เป็นทางเลือกใหม่ที่ลดความเสี่ยงของการระบาดโรคไข้เลือดออก ซิก้า และชิกุนกุนยา ได้ และมีต้นทุนต่ำคือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อประชากรเท่านั้น ขณะที่ตั้งแต่ปี 2012 รัฐบาลสิงคโปร์ โดย National Environment Agency หรือ NEA ได้ทำโครงการทดสอบภาคสนาม ปล่อยยุงที่มี Wolbachia ออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาและประเมินความเสี่ยง และปัจจุบันอยู่ในระยะที่สองของโครงการ มีบริษัท Startup ในสหรัฐที่ผลิตยุงแบบนี้ออกจำหน่ายด้วย เทคโนโลยีการกำจัดยุงด้วยแบคทีเรียนี้น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญแบบหนึ่งในการกำจัดยุงในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น ในทวีปแอฟริกา หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง  

2. วัคซีนกินได้ (Edible Vaccine) 
วัคซีนรุ่นใหม่อาจจะใช้วิธีการกิน วัคซีนแบบนี้ผลิตขึ้นในพืช เช่น พืชอาหารต่าง ๆ ตัวอย่างพืชที่เคยมีการทดลอง ได้แก่ มันฝรั่ง ยาสูบ กล้วย มะเขือเทศ ผักกาดหอม ข้าวโพด ถั่ว และข้าว โรคที่ศึกษาก็มีตั้งแต่  โรคท้องเสีย โรคตับอักเสบบี โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ และโรคแอนแทรกซ์ เป็นต้น การทำพืชวัคซีนแบบนี้ ต้องนำสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ไม่เกี่ยวกับการก่อโรค มาใส่เข้าไปในพืช พืชจึงเป็นดั่งโรงงานที่สร้างสารเหล่านี้ขึ้นมา โดยขั้นตอนนี้อาศัยแบคทีเรียพวก Agrobacterium นำสารพันธุกรรมเข้าไปในพืช เมื่อคัดเลือกพืชที่รับเอาสารพันธุกรรมดังกล่าวเข้าไปได้แล้ว ก็นำมาเพิ่มจำนวน และใช้รับประทานเป็นวัคซีนได้ต่อไป เมื่อปลูกพืชนี้ในกระบวนการเพาะเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพสูงในที่ปิด ที่เรียกว่า plant factory เราก็จะได้โรงงานวัคซีนแบบใหม่ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงต่อไป วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้ไข่สดหรือสัตว์ในการผลิต จึงปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อโรค วัคซีนแบบใหม่จึงอาจจะใช้วิธีกิน แทนที่จะฉีดแบบที่เราคุ้นเคยกันมานาน 

3. เซลล์สำหรับทดสอบยา (Cell Line for Drug Testing) 
การผลิตยาสมัยใหม่นั้น มีคอขวดอยู่หลายจุด ทำให้กินเวลานานและต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ทำให้ผลสุดท้ายคือ ยามีราคาแพงไปด้วย หนึ่งในขั้นตอนสำคัญคือ การทดสอบในสัตว์ทดลอง เช่น หนู และลิง อีกทั้งยังมีปัญหาจากแนวโน้มการต่อต้านจากนักสิทธิสัตว์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้หากสามารถนำเซลล์ผู้ป่วยมาทำให้เป็นสเต็มเซลล์แบบพิศษ iPSC ก็จะสามารถนำมาทดสอบยาได้โดยตรง และได้คำตอบที่รวบรัดชัดเจนว่า ยาที่ต้องการใช้ทำให้เซลล์ผู้ป่วยคนนั้น มีปฏิกิริยาทางลบหรือจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ 
นี่จึงเป็น 1 ในแนวทาง“การแพทย์ส่วนบุคคล” (Personalized Medicine) ซึ่งเป็นการรักษาแบบจำเพาะกับบุคคล นอกจากนี้คลังของเซลล์แบบนี้ยังสามารถนำมาใช้ทดสอบยา หรือทดสอบแบบอื่นได้เป็นอย่างดี ทดแทนการทดสอบในสัตว์ทดลองได้ด้วย
“มีบริษัทต่าง ๆ จำนวนหนึ่งที่พยายามหาวิธีสร้างเซลล์ iPSC จากผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ทดสอบยาใหม่ๆ ในระบบแบบ high throughput เช่น บริษัท Axol Biosciences ในสหราชอาณาจักร ในขณะที่บริษัท Elveflow ในฝรั่งเศส ก็ผนวกเอาเทคโนโลยี microfluidic cell culture ที่เพาะเลี้ยงเซลล์ในระบบที่มีการแลกเปลี่ยนสารอาหารและอากาศที่ไหลผ่านเซลล์ โดยควบคุมอย่างละเอียดทุกอย่าง จนทำให้สเต็มเซลล์ เติบโต และเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในระยะต่าง ๆ ที่เหมาะกับการนำมาใช้ทดสอบความเป็นพิษของยาได้เป็นอย่างดี” 
ทางบริษัทยังได้ตั้งเป้าจะใช้ platform แบบนี้กับโครงการชื่อ The Medlem Project ที่ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในยุโรป ให้ยืนยาวขึ้นอีก 5-10 ปี โดยอุปกรณ์พวกนี้จะใช้ในการทำแบบจำลอง การทดสอบยา และใช้ปรับปรุงกระบวนการรักษาอีกด้วย เทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์จากสัตว์ หรือแม้แต่เซลล์จากผู้ป่วยนี้ จึงถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยแบบจำพาะเจาะจงรายคน ประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

4. การบำบัดส่วนบุคคล (Personalized Therapy) 
มองย้อนไปการแพทย์สมัยก่อนเป็นแบบเหมาโหล เพราะดูตามอาการและใช้ยาแบบเหมารวมว่าใช้ได้กับทุกคน แต่ปัจจุบันเริ่มมีวิธีการป้องกันโรคมากขึ้นทุกที ในอนาคตอันใกล้ ด้วยความรู้เกี่ยวกับข้อมูลพันธุกรรม จากผลของการอ่านรหัสพันธุกรรมได้ด้วยราคาที่ถูกลงมาก มีวิธีการตรวจและรักษาที่เจาะจงมากขึ้น ทำให้ป้องกันและรักษาโรคได้ดีขึ้นอีกมาก จนถึงระดับที่บำบัดรักษาแบบจำเพาะกับคนๆ นั้นเกิดเป็นแบบ Personalized Therapy หรือ เป็นการบำบัดส่วนบุคคล เลยทีเดียว 
หัวใจหลักของการรักษาแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะประกอบด้วยความรู้ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกมาจากความรู้เกี่ยวกับการสร้างสเต็มเซลล์อย่างง่ายๆ สเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่สามารถนำมาใช้ซ่อมแซม หรือสร้างทดแทนเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่สึกหรอไปได้ ทั้งนี้นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ชินยะ ยามานะกะ (Shinya Yamanaka) ค้นพบวิธีการสร้าง “ตั้งโปรแกรมใหม่” หรือ reprogramming cell ซึ่งช่วยเปลี่ยนเซลล์ร่างกายแบบอื่นๆ ที่มีจำนวนมาก เช่น เซลล์ผิวหนัง ให้กลายเป็น สเต็มเซลล์ได้ โดยการใส่ดีเอ็นเอจำเพาะไม่กี่ชิ้น เกิดเป็นสเต็มเซลล์แบบพิเศษที่เรียกว่า iPSC ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบนี้ในปี 2012 
ไม่แค่เราได้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยง่ายขึ้น เทคโนโลยีในการแก้ไขดีเอ็นเอที่ผิดปกติที่เรียกว่า เทคโนโลยีการดัดแปลงยีน หรือที่เรียกว่า CRIPR/Cas9 (คริสเพอร์แคส 9) จะทำให้สามารถแก้ไขโรคต่าง ๆ ได้ รวมทั้งโรคพันธุกรรมที่เดิมไม่เคยรักษาได้มาก่อนเลย 
การผสมผสานเอาเทคนิคทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน จึงทำให้การรักษาโรคเป็นแบบจำเพาะเจาะจงกับคนนั้น ๆ อย่างมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างโรคแรกๆ ที่มีการทดลองไปคือ โรคจอตาเสื่อม เป็นต้น

5. เข็มจิ๋วอัจฉริยะ (Intelligent Nano-Needle) 
เมื่อปีที่แล้ว เรามีกล่าวถึง เข็มจิ๋วจิ้มไม่เจ็บ หรือ Nano Needle ที่อาศัยลักษณะของเข็มที่เล็กมาก ทำให้เวลาใช้งาน ผู้ที่ถูกเข็มเหล่านี้จิ้มจะไม่รู้สึกเจ็บ วันนี้ ไม่เพียงแต่เรื่องขนาดเท่านั้นที่สำคัญ แต่เข็มเหล่านี้ยังฉลาดมากขึ้น และทำงานได้อย่างอเนกประสงค์มากยิ่งขึ้น เช่น การเชื่อมต่อกับตัวตรวจจับ หรือตัวรับสัญญาณ หรือ sensor ทำให้สามารถตรวจวัดการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามเวลาจริง (real time) ได้ เพื่อให้เห็นภาพ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ที่ต้องการตรวจวัดระดับน้ำตาลอยู่ตลอดเวลา เพราะการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างปุบปับ อาจก่ออันตรายร้ายแรงได้ ก็อาจต้องอาศัยเข็มแบบนาโนนี้ แปะติดกับผิวหนังไว้ 
“ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลที่ผิดปกติไป ตัว sensor ที่ติดอยู่กับเข็มพวกนี้ จะส่งสัญญาณไปยังระบบสมองกล ซึ่งอาจจะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยวิเคราะห์ผลทันที ก่อนจะสั่งการให้เข็มแบบเดียวกันอีกชุดหนึ่งที่มี อินซูลินหรือยาอื่น ที่จำเป็นบรรจุอยู่ ฉีดอินซูลินหรือยานั้นในระดับที่จำเป็น พอดีกับระดับน้ำตาลขณะนั้น ๆ เข็มจิ๋วอัจฉริยะแบบนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เข็มฉีดยา แต่กลายเป็น ชุดวัดระดับน้ำตาล ไปด้วยในตัว”  

6. วาล์วจิ๋วส่งยา (Nano-Valve) 
เมื่อปี 2555 เราเคยกล่าวถึง นาโนพอร์ซีเควนซิ่ง (Nano-Pore Sequencing) ที่อาศัยช่องเล็กสุดๆ ระดับนาโน ที่เล็กกว่าเส้นผมของคนเราถึง 100,000 เท่า ในการอ่านรหัสพันธุกรรม แต่เทคโนโลยีนี้ มีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ เมื่อนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี มาสร้าง “วาล์ว (valve)” หรือ ลิ้นปิดเปิดระดับนาโน ประกอบเข้ากับกับนาโนพอร์ จะเกิดเป็น “นาโนวาล์ว” ทำให้ได้ระบบนำส่งโมเลกุลหรือยาไปสู่เซลล์เป้าหมายและสามารถควบคุมการปลดปล่อย ณ ตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำอีกด้วย เมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการนำส่งโมเลกุลแบบมุ่งเป้าระดับนาโน โดยใช้ตัวพาที่เป็นอนุภาคนาโนที่จำเพาะกับโมเลกุลหรือเซลล์เป้าหมาย ก็อาจจะช่วยในการรักษาโรคได้ ซึ่งการควบคุมการปิด-เปิดของวาล์วนั้น อาจจะอาศัยกลไกการเปลี่ยนแปลง pH หรือ สารจำเพาะบางอย่างในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเป้าหมาย เช่น เซลล์เนื้องอกหรือมะเร็งมี pH หรือสารจำเพาะที่ต่างจากเซลล์ปกติ ทำให้วาล์วเปิด และปล่อยสารหรือยาที่อยู่ภายในออกมาได้ นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมได้จากภายนอกร่างกาย หรือภายนอกเซลล์ เช่น ใช้การกระตุ้นด้วยแสง ความร้อน หรือ สนามแม่เหล็ก เป็นต้น จึงทำให้การออกฤทธิ์ของสารที่บรรจุไว้ในนาโนพอร์ มีความจำเป็นสูงมาก นาโนวาล์ว จึงเป็นอีกทางหนี่งในการรักษาโรคในอนาคต

7. การพิมพ์โลหะ 3 มิติ (Metal 3D Printing)
ปัจจุบันการพิมพ์โลหะ 3 มิติ ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอากาศยานและยานยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนปลูกฝังทางการแพทย์ เป็นต้น โดยเทคโนโลยีการพิมพ์โลหะ 3 มิติ มีการใช้เลเซอร์ (Laser) หรือลำแสงอิเล็กตรอน (Electron Beam) หลอมละลายผงโลหะเป็นชั้น ๆ ชิ้นงานที่ได้มีความแข็งแรง ตกแต่งเพียงเล็กน้อยก็ใช้งานได้ทันที 
“ทั้งนี้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เราจะสามารถมีเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ ไว้ใช้ตามออฟฟิศได้ โดยใช้วิธีพิมพ์แบบดันวัสดุ (Material Extrusion) ซึ่งมีหลักการเดียวกับการพิมพ์พอลิเมอร์ 3 มิติ ที่มีใช้ทั่วไปในปัจจุบัน ผงโลหะที่ผสมกับ      พอลิเมอร์จะถูกดันผ่านหัวฉีดขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ไม่ต้องใช้เลเซอร์หรือลำแสงอิเล็กตรอน และไม่มีผงโลหะส่วนเกิน ทำให้วางเครื่องประเภทนี้ในออฟฟิศได้เลย จึงพิมพ์ได้รวดเร็วขึ้น ราคาเครื่องพิมพ์ถูกลง โดยเฉพาะเพื่อพิมพ์ชิ้นส่วนโลหะ สำหรับใช้ซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาที่ไม่ต้องการการผลิตจำนวนมาก แต่ต้องมีความจำเพาะเจาะจง เช่น ในทางการแพทย์ รวมทั้งการพิมพ์ในสถานที่เข้าถึงยาก เช่น เรือดำน้ำ หรือยานอวกาศ”   
ปัจจุบัน เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับภาคเอกชนทำงานวิจัยที่ประยุกต์ใช้การพิมพ์โลหะ 3 มิติเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม ทั้งวิธีการพิมพ์ที่ใช้เลเซอร์ หรือลำแสงอิเล็กตรอน และวิธีการพิมพ์ที่ต้องนำชิ้นงานไปเผาผนึกก่อนการใช้งาน

8. วัสดุดูดซับเสียงออกแบบได้ (Customized Sound Absorber) 
ปัญหาเสียงดังจากยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องจักร ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง “โฟมอะลูมิเนียม” เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในด้านการดูดซับเสียงดี แข็งแรง ทนแรงกระแทก น้ำหนักเบา สวยงาม ไม่ลุกติดไฟ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โฟมอะลูมิเนียมมีการผลิต จำหน่ายและใช้งานในต่างประเทศ แต่ปริมาณยังไม่มากนัก เนื่องจากมีต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตสูง
นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. พัฒนาโฟมอะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติเด่น คือ ดูดซับเสียงที่ความถี่เสียงต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ออกแบบโดยใช้วัสดุทรงกลมซึ่งสามารถทนอุณหภูมิสูง และมีพื้นผิวรูปแบบต่าง ๆ เป็นวัสดุที่ทำให้เกิดรูพรุนรูปแบบต่าง ๆ ภายในโฟมอะลูมิเนียม โดยในการทดสอบในห้องปฏิบัติการสามารถลดระดับเสียงดังลงได้จาก 90 เดซิเบล เป็น 64 เดซิเบล (การฟังเสียงดังระดับ 85 เดซิเบล ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้การรับฟังเสียงบกพร่องอย่างถาวรได้)  วิธีการดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบบเดิมถึง 50 % ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย

9. เทคโนโลยีไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber–Physical Technology) 
ในโลกศตวรรษที่ 21 ลักษณะความเป็นเมืองใหญ่เป็นเทรนด์ที่เห็นได้ชัด โดย World Urbanization Prospects คาดว่า จำนวนประชากรโลกที่เป็นคนเมืองจะมีมากถึงร้อยละ 66 ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะเกิดผลดีต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมในเมือง แต่ก็อาจต้องการบริการที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม การจัดการทรัพยากร และสภาพแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัย
เมืองกายภาพ หรือ physical city และเมืองไซเบอร์ หรือ cyber city จะเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์หลากหลายชนิด เกิดความเป็น เมืองแบบไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber–Physical City) ซึ่งจะเกิดโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่จำนวนมาก ทั้งธุรกิจบริการ มีตัวอย่างบ้างแล้ว เช่น ระบบบริการรถของอูเบอร์ (UBER), ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแคชเชียร์ (Amazon Go) หรือระบบจัดการจราจรที่เรียกว่า City Brain ของ Alibaba ที่ทำงานผ่านกล้อง CCTV และ Cloud Computing AI จนทำให้การจราจรเมืองหางโจวของจีนคล่องตัวขึ้น 15% และกำลังขยายมาสู่ประเทศอาเซียนอื่น เช่น มาเลเซีย 
การผนวกสองมิติของเมืองเข้าด้วยกัน เริ่มจากการเชื่อมต่อของสิ่งต่าง ๆ  ในโลกกายภาพ แบบเป็นเครือข่าย ซึ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ IoT เป็นตัวช่วยสำคัญ ปัจจุบัน สวทช. กำลังสร้างฐานเทคโนโลยีระบบนี้อยู่ ดังปรากฏต่อสาธารณชนผ่าน โครงการเน็ตพาย (NETPIE) และโครงการเมืองอัจฉริยะ (smart city) โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

10. เทคโนโลยีแช็ตบอต (Chatbot Technology) 
ทุกวันนี้ โลกกำลังขยับจาก ยุคดิจิทัล เข้าสู่ยุคอัจฉริยะ (Intelligence Era) คนจำนวนมากมีเครื่องคอมพิวเตอร์พลังสูงพกติดตัว เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดึงข้อมูลจากทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา สมาร์ทโฟน สมาร์ทโฮม ตลอดจนหุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ 
ในอนาคตอันใกล้ วิธีการสำคัญมนุษย์จะใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่ใช่คีย์บอร์ด เมาส์ หรือทัชสกรีน แต่เป็นการสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ (Seamless Conversation) ผ่านเทคโนโลยีแช็ตบอต ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้มนุษย์พูดคุย สั่งงาน และสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้เฉกเช่นเดียวกับการสนทนากับคนด้วยกันเอง
ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีแบบนี้มาประยุกต์ใช้งานหลายรูปแบบ เช่น ใช้ทำแช็ตบอตสำหรับบริการลูกค้า (Customer Service Chatbot) เช่น Line@ และ Siri ระบบในลำโพงอัจฉริยะ (Smart speaker) เช่น HomePod และ Echo ระบบในหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ดินสอ และ Pepper เป็นต้น  ในระบบสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ ระบบต้องรู้จำเสียงพูด ทำความเข้าใจภาษาได้ สนทนากับคนได้ และมีระบบสืบค้นข้อมูล ระบบสังเคราะห์ภาษา รวมถึงระบบสังเคราะห์เสียงพูด ซึ่งใกล้เคียงกับคนจริง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) เนคเทค สวทช. ทำวิจัยส่วนประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ปัจจุบันมีระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทยที่รองรับคำศัพท์หลากหลาย มีระบบจัดการการสนทนา และระบบสังเคราะห์เสียงพูดที่เป็นธรรมชาติ หน่วยวิจัยฯ ร่วมงานกับพันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงประยุกต์ใช้ในงานบริการลูกค้าแบบเฉพาะด้านอีกด้วย 

ดร. ณรงค์ กล่าวต่อว่า จะสังเกตได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ารวดเร็วมาก และปราศจากพรมแดน ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง ประเทศไทยจึงสามารถมีส่วนร่วมในการคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังที่ยกตัวอย่างเอาไว้ในที่นี้ มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลายประเภทที่เห็นอยู่ในปัจจุบันและข้อมูลเหล่านี้จะมีความสำคัญสำหรับคนทั่วไปเช่นกัน เพื่อให้ทันรับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีใกล้ชิดกับเราอย่างมากโดยคาดไม่ถึงในทุกมิติของชีวิต 
นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาพิเศษ เช่น Disruptive Technology to Smart Farming เทคโนโลยีพลิกเกษตรไทยเป็นเกษตรอัจฉริยะ: เทคโนโลยีจะช่วยเกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิตหรือลดการสูญเสียได้อย่างไร และ Disruptive Technology: Food for the Future เทคโนโลยีอาหารเพื่ออนาคต: เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในไทยได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับและปรับตัวตัวเองและปรับธุรกิจให้ทันต่อกระแสเทคโนโลยีด้วย
ทั้งนี้ สวทช. ขอเชิญผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้สนใจ ร่วมงาน Thailand Tech Show 2018 มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมแกร่งธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรมไปพร้อม ๆ กัน วันที่ 4-8 กรกฎาคมนี้ ฟรีตลอดงาน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (EH101-102)