ไฟเขียวไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เอกชนร่วมทุนการรถไฟ 1.2 แสนล้าน

อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 393 Reads   

ครม.ไฟเขียว ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน-ประกาศเพิ่มเติมพื้นที่อีอีซี ตลอดสองข้างทางเริ่มดอนเมืองสุดเขต กทม. 60 กม.-2,400 ไร่ คลุมมักกะสันด้วย

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร 5 สถานี ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยาและอู่ตะเภา อัตราความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภาเข้ากรุงเทพฯ ภายในเวลา 45 นาที ให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 50 ปี อัตราค่าโดยสาร จากมักกะสัน-พัทยา 270 บาท และจากมักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท เปิดพื้นที่การพัฒนา 3 จังหวัด ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทราและระยอง

ขณะที่ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ทั้งโครงการ มูลค่า 700,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 50 ปีแรก 400,000 ล้านบาท และ 50 ปีต่อไป 300,000 ล้านบาท โดยผลตอบแทนมาจากมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากสนามบินอู่ตะเภา ลดการใช้น้ำมัน ลดระยะเวลาเดินทางและมลพิษจากการใช้รถยนต์ นอกจากนี้ยังได้ผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง รวมถึงความเจริญที่จะเกิดขึ้นโดยรอบสถานีรถไฟ การจ้างงานและการใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศ ภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้มากขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตระยะต่อไป จะเชื่อมโยงจากระยอง จันทบุรีและตราด

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวหมายถึงการพัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชา และรวมโครงการแอร์พอร์ตลิงก์รวมเข้าไปด้วยเป็นโครงการเดียวกัน โดยรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ใช้รางเดียวกับรถไฟความเร็วสูง

สำหรับรายละเอียดโครงการตามที่มติ ครม.อนุมัติ ได้แก่ 1.ภาครัฐลงทุนค่างานจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า ค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมถึงการบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนระยะเวลา 50 ปี โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ จัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ

2.อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับเลือก 3.อนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูง กรอบวงเงิน 3,570.29 ล้านบาท

4.อนุมัติกรอบวงเงิน ร่วมลงทุนกับเอกชน ในวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ทั้งนี้จะทยอยจ่ายให้เอกชน แบ่งจ่ายเป็นรายปี ระยะเวลาแบ่งจ่าย ไม่ต่ำกว่า 10 ปี 5.เห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ของ ร.ฟ.ท. เป็นจำนวนเงิน 22,558.06 ล้านบาท

6.เห็นชอบให้พื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่สนามบินดอนเมือง ถึงสุดเขตกรุงเทพฯ และรวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หรือพื้นที่ที่เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านและรอบสถานี ประกาศให้เป็นพื้นที่อีอีซีเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป

7.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ร.ฟ.ท. และสำนักงานอีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ การร่าง TOR และสรรหาผู้ประมูลเพื่อนำเข้า ครม.อนุมัติอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพิ่มเติม ตั้งแต่สถานีดอนเมืองถึงสุดเขตกรุงเทพฯ และรวมถึงสถานีสุวรรณภูมิที่มีระยะทางยาว 60 กิโลเมตร พื้นที่ 2,400 ไร่ ประกอบด้วย

1.พื้นที่แนวเขตทางรถไฟของโครงการ ตั้งแต่สถานีดอนเมืองถึงสถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 60 กม. (ความกว้างของเขตทางรถไฟ 40-80 เมตร)

2.พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ (เฉพาะในส่วนชานชาลาและรางที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ)

3.พื้นที่สถานีมักกะสัน (28 ไร่)

4.พื้นที่บริเวณสถานีมักกะสันเพื่อใช้ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสารและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ (150 ไร่)

5.พื้นที่สถานีสุวรรณภูมิ