“สมคิด” ชวนนักลงทุนไทย-เทศ ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์-EEC-ดิจิทัล

อัปเดตล่าสุด 19 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 477 Reads   

ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Taking off to New Heights หัวข้อ “ก้าวใหม่เศรษฐกิจไทย รับความท้าทายอย่างมั่นคง” ว่า ผลจากการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลและการร่วมมือกับพันธมิตรของเราภายใต้การนำของท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยไม่เพียงแต่สามารถก้าวพ้นความชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถสร้างพัฒนาการในหลากหลายมิติ โอกาสของประเทศที่เราเห็นและคาดหวัง ได้ปรากฎให้เห็นเป็นพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2558-60 ปรากฎการณ์ใหม่ทางเศรษฐกิจของไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

แม้พัฒนาการในด้านต่างๆ ของประเทศจะดีขึ้นอย่างน่าพอใจ แต่มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า นี่ไม่ใช่จุดสูงสุด มันจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ดีกว่ากำลังรอเราอยู่เบื้องหน้า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นของโฉมหน้าใหม่ของเศรษฐกิจไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษใหม่ที่จะมาถึง การเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเราจะยังสามารถทะยานไต่ระดับขึ้นไปได้อีก และจะสามารถกระจายความมั่งคั่งใหม่นี้ไปทุกส่วนของสังคมได้ดีขึ้นกว่าในอดีต

“ถ้าไม่มีปรากฎการณ์นอกเหนือการคาดหมายมาทำให้สะดุด เรามั่นใจยิ่งว่าด้วยผลจากโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่และที่จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โฉมหน้าเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนสู่ยุคใหม่ในระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภาค CLMVT แห่งนี้”

ยุทธศาสตร์การลงทุน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Mega Projects ที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพของประเทศ ตัวอย่างเช่นการลงทุนที่จะเปลี่ยนโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศ อาทิในด้านรถไฟ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร ซึ่งเหลือโครงการที่กำลังจะเปิดประมูลอีก 9 ช่วงตอนวงเงินรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด รวม 4 จังหวัด มูลค่ากว่าแสนหกหมื่นล้านบาทที่จะเริ่มต้นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ โครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งมีโครงการที่กำลังจะประมูลอีก 10 สายทาง เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ วงเงินรวมประมาณ 280,000 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคที่เริ่มต้นก่อสร้างแล้ว คือ รถไฟความร่วมมือไทยจีน กรุงเทพ-หนองคาย โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน ที่ TOR ใกล้เสร็จสมบูรณ์ในไม่ช้า

นายสมคิดกล่าวว่า ในด้านท่าอากาศยาน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ตลอดจนการพัฒนาสนามบินขนาดเล็กลงมาในจังหวัดในภูมิภาคที่จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศ ทั้งหมดนี้มีการศึกษาและผมได้กำชับให้เริ่มลงทุนโดยเร็ว และโครงการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งการสำรวจแหล่งพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในโครงข่ายในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้งหมดนี้ในช่วงระยะเวลา 2560-2564 มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านๆ บาท ในขณะที่ได้จัดเตรียมโครงการลงทุนด้านไฟฟ้าในช่วงปี 2561-65 ในวงเงินรวมกว่า 7 แสนล้านนี้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้พอเพียงรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

กลุ่มที่ 2 กลุ่มโครงการลงทุนใน Eastern Economic Corridor (EEC) คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่รัฐบาลไทยตั้งใจพัฒนาต่อยอด จากโครงการ eastern seaboard เดิมเพื่อรองรับเป็นฐานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อให้เป็นฐานของการสร้าง transshipment port ขนาดใหญ่ในการขนส่งสินค้าเข้าและออกรองรับไม่เพียงแต่ประเทศไทยแต่รองรับ CLMVT โดยรวม ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อให้ EEC เปี่ยมด้วยสมรรถนะในการรองรับนักลงทุน รัฐบาลได้จัดให้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยองเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนประมาณ 236,700 ล้าน คาดว่าจะประกาศ tor ในเดือนมีนาคมหรืออย่างช้าต้นเดือนเมษายนเพื่อให้พร้อมเปิดดำเนินการปี 2566

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท คาดว่าจะประกาศทีโออาร์เชิญชวนประกวดราคาได้ในเดือนกรกฎาคม 2561 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ในเดือนมีนาคม 61 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 150,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศทีโออาร์เดือนสิงหาคม 61 โครงการท่าเรือมาบตะพุด phase 3 มูลค่าโครงการประมาณ 110,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ เดือนมิถุนายน 61

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรศฐกิจภาคตะวันออก eeci ที่จะสนับสนุน eec ในการขับเคลื่อน นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเป็น global sandbox ที่นักวิจัยและนวตกรรมระดับโลกมาทำงานร่วมกันในรูปแบบ open innovation เพื่อทดลอง ทดสอบนวัตกรรมใหม่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคต่อไป และโครงการพัฒนา eec ให้เป็น smart logistic hub โดยเชื่อมโยงและประสานปลดล็อกกระบวนการศุลกากรให้เข้าสู่ประเทศที่สามอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การสร้างเขตปลอดภาษีอากรเชื่อมกับการขนส่งเอกชนด้าน e commerce

นายสมคิดกล่าวว่า กลุ่มที่ 3 ได้แก่ กลุ่มโครงการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ 4.0 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ 4 ภารกิจหลัก ได้แก่

1.การลงทุนใน digital infrastructure เพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดยเน้นการลงทุนใน internet broadband ให้ลงถึงทุกหมู่บ้านกว่า 75,000 หมู่บ้านในปีนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นช่วยเชื่อมต่อไปสู่การใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในการให้บริการด้านการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนา smart farmer และsmart sme รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนา smart city ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มต้นโครงการนำร่องที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และการสร้างเมืองใหม่ใน eec

การลงทุนใน digital infrastructure เหล่านี้จะทำควบคู่กับการพัฒนาด้าน digital literacy ให้คนไทยเรียนรู้ เข้าใจ มีทักษะและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อีกทั้งการเร่งสร้างบุคลากรด้านดิจิตอลในทุกสถาบันการศึกษาและการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการสร้างบุคลากรทางด้านนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการลงทุนใน submarine cable เชื่อมโยง ไทย ฮ่องกง จีน เพื่อให้ไทยสามารถเป็น international gateway ในระดับภูมิภาค การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบไปด้วยการลงทุนในดิจิทัล พาร์คในพื้นที่ eec เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันศึกษามาใช้ประโยชน์ในการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ อาทิ AI IoT การพัฒนา IoT institute & consortium เพื่อผลักดันให้มีการใช้และพัฒนาด้าน IoT เป็นต้น

2. การสร้างและพัฒนา digital trading โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน e-commerce ทั้งการลงทุนของภาครัฐเอง การส่งเสริมแก่ภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างระบบการค้า e-comerce ให้เข้าถึงชุมชนในชนบท เพื่อสร้างศักยภาพแก่ชนบทในการเข้าถึงตลาดโลก ทั้งในการจำหน่ายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน และการเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวทั่วโลก อันจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในชนบท การพัฒนาการค้า online ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมนำไปสู่การลงทุนใน Logistic และบริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการทางการเงิน ซึ่งรัฐบาลในขณะนี้ได้ให้ความสำคัญกับการชักชวนให้นักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และร่วมมือในโครงการพัฒนาต่างๆ ทางด้านนี้

3. การขับเคลื่อน digital transformation ในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะ sme ให้เร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน IoT AI Sensor Technology และ Big data ในภาครัฐเองได้จัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนและวงเงินสินเชื่อเพื่อขับเคลื่อนในด้านนี้กว่า 2 แสนล้านบาท ในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมๆ ไปกับการร่วมมือกับต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ภาคการผลิตและภาคบริการของไทยเกิดความตื่นตัวเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีได้ในที่สุด

4. การก้าวสู่ e government ภาครัฐได้พัฒนาระบบการโอนเงินทาง electronic ที่เราเรียกกันเองว่า prompt pay และในปลายเดือนนี้ การรับและชำระเงินของรัฐบาลจะเข้าสู่ระบบไร้เงินสดแต่ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แทน (National E Payment) ตามด้วยโครงการสวัสดิการคนจน ด้วยการช่วยเหลือคนจนผ่านการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะขยายผลต่อไปสู่ทุกโครงการของรัฐกับประชาชน ไม่ว่าการคมนาคมขนส่ง การให้สวัสดิการในด้านต่างๆ ต่อไป รัฐบาลยังได้ผลักดันระบบ E-tax system เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือ การให้ทุกหน่วยงานของรัฐทั้งกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจ เร่งขับเคลื่อนโครงการ Big data และ Opened data เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดจากข้อมูลและข่าวสารในอนาคต พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อเข้ามาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดิจิทัลให้ทันสมัยมิให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต โครงการทุกโครงการข้างต้น รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมกับเรา โดยประสานติดต่อกับทาง BOI