ดันตั้ง “ส.หุ่นยนต์”-BOIขยายเวลาเพิ่ม

อัปเดตล่าสุด 25 ธ.ค. 2560
  • Share :
  • 416 Reads   

ยานยนต์-อิเล็กฯ โดดขอ BOI มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพียบ เอกชนจ่อตั้ง “สมาคมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์” ระดม 400 บริษัทเร่งสร้างดีมานด์ เหตุไทยยังขาดดุล

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ (demand) ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศยังไม่มาก ดังนั้น บีโอไอจึงต้องใช้เครื่องมือที่มีกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศขึ้น เพราะเมื่อปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของผู้ผลิต จึงได้ขยายระยะเวลา มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไปอีก 3 ปี ที่มี 3 ส่วนหลัก คือ 1.เพื่อการประหยัดพลังงานหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.เพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยจะสิ้นสุดการขอรับการลงทุนปี 2563 จากเดิมสิ้นสุดการให้ยื่นวันที่ 29 ธ.ค. 2560

ขณะเดียวกันได้ปรับเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ เช่น กิจการเดิมหรือโครงการลงทุนใหม่ หากมีการลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ออกแบบวางระบบพัฒนาอย่าง Internet of Thing (IoT) สำหรับภาคการผลิต จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุน ในกรณีที่ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมด ได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกิน 50% มาเป็นไม่เกิน 100% เป็นต้น

จากสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบการยื่นขอรับการลงทุนในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมภายใต้มาตรการดังกล่าวเพียง 140 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน/ใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เงินลงทุนถึง 23,562 ล้านบาท เป็นกิจการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มากที่สุด

ขณะที่การยื่นขอตามมาตรการดังกล่าว โดยลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เงินลงทุน 11,000 ล้านบาท จำนวนเพียง 48 โครงการเท่านั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ในประเทศยังไม่มากพอ

ส่วนยอดคำขอ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 60) มียอดขอรับการลงทุนรวมทั้งหมด 376,570 ล้านบาท 978 โครงการ เป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 12,535 ล้านบาท 109 โครงการ มาจากส่วนที่เป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4,328 ล้านบาท 19 โครงการ

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในประเทศเทียบจากอดีตนับว่าเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่สามารถสร้าง demand ได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แต่กลับพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งหมดแล้ว

รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัพพลายเชนให้กับทั้ง 2 อุตสาหกรรม ได้เริ่มปรับเปลี่ยนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปบางส่วนแต่ยังไม่มาก ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา โครงการขนาดใหญ่ในฝั่งผู้ผลิตเกิดการลงทุนจริงประมาณ 9-10 โครงการ ขณะที่ผู้ใช้อยู่ที่ประมาณ 10 โครงการ ถึงจะไม่มากแต่นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

เบื้องต้นทางบีโอไอ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง เตรียมหารือเพื่อพิจารณากิจการที่ไม่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต อาทิ กิจการคลังสินค้าต่าง ๆ ท่าเรือ เพื่อจะหามาตรการมารองรับกับการที่ผู้ประกอบการต้องการขอรับสิทธิประโยชน์ เพื่อใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาปรับปรุงวางระบบในคลังสินค้า

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ และในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อยู่ที่ 266,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความต้องการใช้จำนวนมาก ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 134,000 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ถือว่าไทยขาดดุลการค้าอย่างมาก

ล่าสุดพบว่า SMEs เริ่มเข้าสู่มาตรการส่งเสริมฯ ของบีโอไอแล้ว 30-40 ราย ขณะที่รายใหญ่ 8-9 ราย มูลค่านับ 10,000 ล้านบาท คือฝั่งผู้ใช้เป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยลงทุนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นและเกาหลีฝั่งผู้ผลิต ที่อยู่ระหว่างการหารืออีก 7 รายสนใจที่จะลงทุน

นายพชระ โง้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์ค จำกัด (UNiCAL) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์หุ่นยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 บริษัท เตรียมรวบตัวตั้งสมาคมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ขึ้นเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางในการประชุมหารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้กับประเทศ