ผัง EEC ฉลุยบังคับใช้ ก.ค.61 บูม 6 เมืองใหม่ รับไฮสปีดเทรน

อัปเดตล่าสุด 21 ธ.ค. 2560
  • Share :

กรมโยธาฯ รวบ 3 จังหวัด ตอ.เข้าผังเมืองอีอีซี ประกาศใช้ ก.ค. 61 เน้นยืดหยุ่นใช้ที่ดินเอื้อลงทุน ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย บูม 6 เมืองใหม่ใกล้สถานีรถไฟความเร็วสูง นิคม ซี.พี.แลนด์ 3 พันไร่ ได้ 2 เด้ง ไฟเขียวปรับสีผัง พ่วงรับโบนัสเขตส่งเสริม ศก. พิเศษ

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมได้ดำเนินการปรับผังเมืองรวมจังหวัดให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญ คือ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด 12 พื้นที่ ได้แก่ แม่สอด มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย นครพนม หนองคาย กาญจนบุรี นราธิวาส

เร่งผังเมืองอีอีซีเสร็จ ก.ค. 61

ล่าสุดกำลังเร่งรัดศึกษาวิเคราะห์สภาพพื้นที่และศักยภาพความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ที่ดินใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จัดทำเป็นแผนผังรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี จะวางกรอบการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ผืนเดียวกัน ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด และสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2561 จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) อีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คาดว่าเดือน ต.ค. 2561 จะออกประกาศเป็นผังเมืองรวมอีอีซีบังคับใช้เป็นทางการ โดยจะยกเลิกผังเมืองรวมทั้ง 3 จังหวัด ใช้ผังเมืองรวมอีอีซีแทน โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดอายุ

“รัฐมีคำสั่ง ม.44 ให้กรมและ สกรศ. เร่งจัดทำผังอีอีซีให้เสร็จใน 6 เดือน โดยลดขั้นตอนการดำเนินการจัดทำผังให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมจะใช้เวลา 1 ปี ให้การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่อีอีซีเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แม้ผังจะเป็นการออกโดยกระบวนการพิเศษแต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย”

 

ยืดหยุ่นการใช้ที่ดิน หลักการวางผังพัฒนาอีอีซี มี 5 แนวทาง คือ

1. วางแนวแกนการพัฒนาเศรษฐกิจตามโครงสร้างพื้นฐานหลักของการพัฒนาอีอีซี เพื่อเป็นกรอบวางผังพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาเมือง ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

2. วางแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ รองรับการพัฒนาเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว รวมถึงเขตส่งเสริมพิเศษ เช่น เขตนวัตกรม EECi และ EECd เป็นต้น

3. กำหนดพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม มุ่งเน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเบื้องต้นจะกำหนดพื้นที่ที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนสถานประกอบการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

4. กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เกิดความสมดุลของพื้นที่ โดยจะกำหนดเขตสงวนและเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ที่เป็นป่าไม้ แหล่งน้ำ ชายฝั่งทะเล และที่โล่ง เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

5. วางแผนผังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร การบริหารจัดการน้ำ การป้องกันอุบัติภัยและอื่น ๆ ให้เชื่อมโยงและรองรับการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรม ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“หน้าตาผังเมืองอีอีซี จะใช้สีเป็นสัญลักษณ์กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และจะแบ่งเป็นโซนตามนโยบายของอีอีซี ตรงไหนจะกำหนดเป็นโซนอะไร เช่น ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมเก่าที่ยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกหลายหมื่นไร่ อุตสาหกรรมใหม่ที่จะส่งเสริม และเมืองใหม่ ยังไม่สามารถระบุรัศมีเป็นรายพื้นที่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรกันจำนวนมาก”

ผุดชุมชนใหม่ใกล้ไฮสปีด

เขตเศรษฐกิจรัฐบาลคาดหวังว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ มีประชาชนเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผังเมืองจะต้องมอง คือ 1.ชุมชนเดิมที่ต้องวางแผนรองรับ 2.ชุมชนที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น บริเวณรัศมีใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-ระยอง) ใช้เวลาการเดินทางไม่เกิน 30 นาที จะมีการพัฒนาเมืองใหม่เกิดขึ้นแน่ ๆ ตามสถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา และระยอง

“อู่ตะเภามีพื้นที่โดยรอบสนามบินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะพัฒนาเป็นชุมชนใหม่เพื่อรองรับกับนโยบายอีอีซี ที่ต้องการให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมการบิน ส่วนที่อื่น ๆ จะกำหนดให้เป็นไปตามสภาพพื้นที่ เช่น ในเขตอนุรักษ์ จะเป็นเมืองน่าอยู่ เช่น พื้นที่บางส่วนของฉะเชิงเทรา และชลบุรี หรือบางพื้นที่ที่ดินราคาสูง ก็ต้องส่งเสริมการพัฒนา เช่น ศรีราชา พัทยา โดยทั้งหมดจะต้องยึดผังเมืองรวมจังหวัดมากำหนดแนวทางการพัฒนาในผังเมืองอีอีซีด้วย”

เปิดโผนิคมเข้าเขตส่งเสริมพิเศษ

สำหรับการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.แลนด์ ขอปรับเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง ขณะนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่าง คาดว่าจะออกบังคับใช้ตามกฎหมายภายในปี 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นิคม ซี.พี.แลนด์ มีพื้นที่ 3,068 ไร่ ใช้เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ตั้งอยู่ ต.มาบข่า ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา และ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 16 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กม. สนามบินอู่ตะเภา 30 กม. และใกล้สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 เฟส ระยะที่ 1 และ 2 ประมาณ 800 ไร่ ระยะที่ 3 ประมาณ 600 ไร่ อีก 900 ไร่ที่เหลือจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและพื้นที่สีเขียว

เร่ง 3 เขตเศรษฐกิจชายแดน

นายมณฑลยังกล่าวถึงความคืบหน้าการวางผังเมืองพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) ขณะนี้ออกประกาศกระทรวงบังคับใช้แล้ว 5 พื้นที่ ได้แก่ แม่สอด สระแก้ว สงขลา ตราด และหนองคาย ต้องการเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เกิดเป็นรูปธรรมก่อน คือ แม่สอด สระแก้ว สงขลา ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการพัฒนา ให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติใหม่บังคับใช้แทนได้ จะเร่งรัดให้เสร็จภายในปี 2561