ธปท.แนะ 5 ทางรอดเอสเอ็มอี ยุค 4.0 จี้ภาครัฐยกเครื่องกม. ทำโครงสร้างพื้นฐานกลางรับยุคดิจิทัล

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ย. 2560
  • Share :

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “SMEs กับการนำไทยให้ก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0” ให้สมาชิกหอการค้าทั่วประเทศฟังในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 35 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

นายวิรไทกล่าวว่า เอสเอ็มอีเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา และยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่างมีเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาเอสเอ็มอีไม่ใช่เพียงแค่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีตั้งธุรกิจได้ง่าย แต่รวมถึงต้องทำให้เอสเอ็มอีเติบโตได้ตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มศักยภาพและสามารถปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว และซับซ้อนขึ้นจากเทคโนโลยี หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า โลก VUCA (วูก้า) โดยผู้ที่รับการเปลี่ยนแปลงได้จะได้รับประโชย์ ขณะที่ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะอยู่ได้ยากขึ้นในโลกยุค 4.0 ที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 6 ด้านสำคัญ คือ 1.เศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing Economy) ด้วยเทคโนโลยีจะสร้างแพลตฟอร์มให้ธุรกิจสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันได้ โดยแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ มีต้นทุนต่ำมาก เพราะไม่ต้องอาศัยธุรกิจตัวกลางเหมือนในอดีต เช่น อูเบอร์ (UBER) บริษัทรถโดยสารสาธารณะที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ AirBNB เครือข่ายการจองห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องลงทุนสร้างห้องพักเอง Alibaba, Facebook เป็นต้น

นายวิรไทกล่าวว่า 2. ข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 3.ธุรกิจบนความเร็ว (Economy of Speed) เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการตัดสินใจที่สั้นลงมาก เช่น การซื้อของผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ 4. อาชีพ ในอนาคตจะมีหลายอาชีพที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่คนมากขึ้นเป็นลำดับ จนภาครัฐอาจต้องมาคิดคำนวณการเก็บภาษีจากหุ่นยนต์ด้วย เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนค่าจ้างของงานบริการบางประเภทที่ยังต้องใช้มนุษย์ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ 5. โครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเอสเอ็มอีจำนวนมากมีความเสี่ยงอาจต้องปิดตัวลงในอนาคต และ 6. กฎเกณฑ์ กติกา หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลงตามบรรทัดฐานของโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน Social media

นายวิรไทกล่าวว่า ในบริบทโลก 4.0 เอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวอย่างน้อย 5 ด้านสำคัญ คือ 1. ต้องรู้ลึกและปรับตัวเชิงรุก โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี 2. ต้องหาทางใช้ประโยชน์จาก Sharing Economy 3. ต้องให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็นส่วนสำคัญของทุกขั้นตอนในการทำงานและการตัดสินใจ 4. การบริหารความเสี่ยงถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านไซเบอร์จะรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มจะผันผวนสูง และ 5. ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานโดยต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นายวิรไทกล่าวว่า ขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับกลไลการทำงาน และบทบาทด้วยถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันเพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเห็นว่างานภาครัฐที่ควรต้องทำอย่างน้อยมี 2 ด้านสำคัญ คือการปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้ทันกับยุคเทคโนโลยี โดยปัจจุบันไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมกันมากกว่า 1 แสนฉบับ ในการประกอบธุรกิจ เอกชนต้องขอใบอนุญาตจากส่วนราชการมากกว่า 20 ประเภท ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างภาระให้เอสเอ็มอีและหลายครั้งเป็นอุปสรรคทำให้เริ่มธุรกิจใหม่ได้ยาก และเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่างธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันกฎหมายจำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย และอีกเรื่องคือการส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Open Platform) เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขัน และส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยเฉพาะประโยชน์จากพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ