สัญญาณบวกเศรษฐกิจไทย รัฐบาลเหยียบคันเร่ง…ทุกเครื่องยนต์

อัปเดตล่าสุด 5 พ.ย. 2560
  • Share :

ช่วงนี้เศรษฐกิจไทยมีข่าวดีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจจะพาเหรดปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยปี 2560 ดีขึ้นแล้ว ล่าสุดในการแถลงผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ ประจำปี 2561 หรือเรียกว่า “Doing Business 2018” ทางธนาคารโลกได้ขยับอันดับของประเทศไทยเพิ่มขึ้นพรวดเดียวถึง 20 อันดับ จาก 46 มาอยู่ที่ 26 โดยมีคะแนนรวม 77.44 เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 72.53

ธนาคารโลกระบุถึง “การพัฒนาที่โดดเด่น” ทั้งในส่วนการลดระยะเวลาการจัดตั้งธุรกิจ/ยกเลิกการประทับตราบริษัทในหุ้น, ลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า, การออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่, การเพิ่มสิทธิผู้ลงทุนรายย่อยทำให้ฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น/สร้างความชัดเจนของโครงสร้างการบริหารระหว่างความเป็นเจ้าของกับการควบคุม/กำกับบริษัท รวมถึงระบบการตรวจสอบภาษีโดยใช้โปรแกรมบริหารความเสี่ยงมาคัดเลือกบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง/ลดอัตราภาษีการโอนทรัพย์สิน, การใช้ระบบยื่นฟ้องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการปรับแก้กฎหมายล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูง่ายขึ้น

ปลุกเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-เทศ

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่าการจัดอันดับเรื่องนี้จะเป็นเหมือนการ “แจกข้อสอบล่วงหน้า” หากตั้งใจทำจริงจังก็ต้องดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงทุก ๆ 2 เดือน และสิ่งสำคัญคือเรื่องการสื่อความกับธนาคารโลก โดยเชิญผู้ใหญ่ของธนาคารโลกมารับฟังเป็นครั้งคราวว่าประเทศไทยทำอะไรไปถึงไหน และให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย

“ผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นมากของไทย จะช่วยให้นักลงทุนต่างประเทศตัดสินใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น หากอันดับไม่ดีนักลงทุนก็จะไปลงทุนประเทศอื่นแทน เพราะในกลุ่มประเทศอาเซียนก็แข่งขันกันสูงมาก โดยอันดับของอินโดนีเซียและเวียดนาม ก็ขยับขึ้นมารวดเร็วมาก ขณะที่มาเลเซียยังดีกว่าไทย 2 อันดับ เราก็ต้องพยายามพัฒนาต่อไป ซึ่งไม่เฉพาะต่างประเทศ นักลงทุนในประเทศก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้เต็ม ๆ และที่สำคัญชาวบ้านที่จะขอติดตั้งไฟฟ้า น้ำประปา ขอแบบก่อสร้าง จะง่ายขึ้นมาก ฉะนั้นทุกฝ่ายจะได้อานิสงส์หมด จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าการปฏิรูปเริ่มเห็นผล” นายสมคิดกล่าว

นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ในฐานะประธานโครงการสานพลังประชารัฐ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ทำให้ขณะนี้เริ่มออกผล เช่น การปรับอันดับการทำธุรกิจของธนาคารโลกในครั้งนี้ ก็เป็นผลจากที่รัฐบาลทำมาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่ดีทุก ๆ ด้าน นักลงทุนต่างชาติก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ตัวเลขส่งออกก็ดี ขณะที่ภาครัฐก็ยังเป็นตัวนำการลงทุน จากที่ 3 ปีก่อน เครื่องยนต์แต่ละตัวแทบจะดับ การส่งออกก็ติดลบ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มกลับมา ภาคเอกชนก็จะเริ่มกลับมาลงทุน ซึ่งจะทำให้การจ้างงานดีขึ้นตามมา

รัฐบาลสปีดทุกเครื่องยนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มขยับ รัฐบาลก็เร่งเครื่องทุกเครื่องยนต์ ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศ จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาหาแนวทางรายละเอียดโครงการ  “ช้อปช่วยชาติ” ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า และมาหักลดหย่อนภาษี ซึ่งโครงการนี้ทำมาทุกปี ปีนี้จะต้องรัดกุมขึ้น และทำให้ยาวกว่าเดิมได้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นการใช้เงินหมุนเวียนมากขึ้น

รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่ยังเป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสมคิด ได้ไปประชุมติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งระบุว่ามีผลดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (action plan) 2560 ที่คืบหน้าเป็นอย่างมาก สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงกว่าเป้า 90% โดยจะมีเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้อีก 1.16 ล้านล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 จำนวน 8 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศ

เร่งแผนลงทุน 51 โครงการปี”61

“ในช่วง 1 ปีนับจากนี้ ต้องการให้งานโครงสร้างพื้นฐานของคมนาคมมีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ส่วนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 รถไฟทางคู่ ให้เร่งเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปี 2560-2561”

พร้อมให้เร่งรัดลงทุนรถไฟทางคู่ที่ประมูลไปแล้ว 5 เส้นทาง และเฟส 2 ที่จะเปิดประมูลตามแผนงาน ส่วนรถไฟไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา น่าจะเริ่มสร้างปลายเดือน พ.ย.หรือต้น ธ.ค.นี้ และได้สั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางใน 4 จังหวัด เพื่อแก้ปัญหารถติดและส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยเฉพาะภูเก็ตให้เร่งสร้างในปี 2561 ทั้งให้ศึกษาเพิ่มที่จังหวัดอุดรธานีและพิษณุโลก

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ 3 หน่วยงานหลักด้านการบิน คือ กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทยหรือ ทอท. เร่งพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง ให้ได้ข้อสรุปภายใน พ.ย.นี้ และปีหน้าจะเริ่มเปิดขายหน่วยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) สร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันคมนาคมได้จัดทำแผนลงทุนเร่งด่วนปี 2561 มี 51 โครงการ วงเงินลงทุน 2.39 ล้านล้านบาท แยกเป็นโครงการต่อเนื่องปี 2559-2560 จำนวน 43 โครงการ วงเงิน 2.29 ล้านล้านบาท และโครงการใหม่ปี 2561 จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 1.03 แสนล้านบาท ได้แก่ ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์รังสิต-บางปะอิน, มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-มหาชัย, โครงการท่าเรือบก, พัฒนาสนามบินกระบี่และขอนแก่น, ระบบขนส่งมวลชนทางราง จ.ขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่

สัญญาณบวกดันจีดีพีปี”61

ขณะที่ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ดีขึ้นทุกตัวจากเดือนก่อนหน้า และช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ประเมินว่าไตรมาส 3 จีดีพีจะโตมากกว่า 4% จากที่ครึ่งปีแรกเติบโตเฉลี่ย 3.5% ซึ่งมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกเป็นหลัก โดย 9 เดือนแรกส่งออกขยายตัวที่ 9.1% จึงมีโอกาสที่ ธปท.จะปรับประมาณการตัวเลขส่งออกอีก ขณะที่จีดีพีปีนี้มีโอกาสโตมากกว่าที่คาด 3.8%

เช่นเดียวกับ นายสุวิชญ โรจนวาณิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 3.8%โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ดีขึ้น

ส่วนปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจจะโตต่อเนื่องที่ 3.8% โดยการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และกระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การลงทุนเอกชนคาดว่าโต 3.4% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะโต 5.7%