ไทยแลนด์ 4.0 “ทำน้อยได้มาก” ส่องแนวคิด “นวัตกรรมแบบเปิด”
ประเทศไทยกำลังมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หรือ Thailand 4.0 เพื่อให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) และเปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจที่ลงมือทำมากได้ผลตอบแทนน้อย มาสู่แบบลงมือทำน้อยได้ผลตอบแทนมาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้เชิญ “ศ.ดร.เฮนรี่ เชสโบร์ว” ผู้คิดค้นแนวคิดด้านนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) และกรรมการบริหาร ศูนย์พัฒนานวัตกรรมแบบเปิด สถาบันพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มานำเสนอแนวคิดและตอบคำถามด้านนวัตกรรมแบบเปิด และโอกาสสำหรับประเทศไทย
ทำไมต้องนวัตกรรมแบบเปิด แนวคิด “นวัตกรรมแบบเปิด” เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์จากภายนอกองค์กร หรืออาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับองค์กรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน
“ศ.ดร.เฮนรี่ เชสโบร์ว” อธิบายว่า แนวคิดหลักของนวัตกรรม คือ ไม่มีองค์กรไหนที่ทำทุกอย่างได้โดยลำพัง องค์กรจะอยู่รอดได้ต้องมีความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และยกระดับความสามารถกับองค์กรอื่น
ในอดีตเมื่อห้าสิบปีก่อน เฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่มีการทำวิจัยและพัฒนาในห้องแล็บ แต่ปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัยและ startup ทำวิจัยมากขึ้น โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ต่างใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (digitalization) บริษัทใหญ่เริ่มพัฒนาช้าลง ขณะที่ startup พัฒนาเร็วขึ้น และยังมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนประเทศ เช่น มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งให้บริการด้านสังคม ดังนั้น การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมจะช่วยเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจและสังคมโดยรวมให้พัฒนาต่อไปได้
“นวัตกรรมแบบเปิดไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนธุรกิจหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท เช่น เปลี่ยนหมู่บ้าน Mori หมู่บ้านเล็ก ๆ ในอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย ให้กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านอัจฉริยะ (smart village) ที่ทุกครัวเรือนเข้าถึง WiFi, เคเบิลทีวี และทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด (cashless transaction) ซึ่งหมู่บ้านในชนบทของไทยก็มีศักยภาพที่จะมีนวัตกรรมเช่นนี้ได้ แม้จะทำเกษตรพื้นฐาน แต่เกษตรกรต้องมีการซื้อขายผลผลิตทางเกษตรกับภายนอกหมู่บ้าน อาจโดยตรงหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง คนเหล่านี้อาจเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ผ่านแอปอย่าง Alipay และ WeChat ซึ่งเป็นที่นิยมมากในจีน ทำธุรกรรมผ่าน Alipay เกือบทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม การทำนวัตกรรมแบบเปิดไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเสมอไป ทุกโครงการมีความเสี่ยง และมีหลายโครงการไม่สำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (mindset) ขององค์กรเพื่อเปิดรับนวัตกรรมและร่วมมือกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย คนในองค์กรต้องเปิดใจรับการเติบโต (growth) ในรูปแบบใหม่ ๆ และในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย “ศ.ดร.เฮนรี่” เสนอให้มหาวิทยาลัยไทยส่งนักศึกษาปริญญาเอกไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เพื่อที่นักศึกษาจะได้สร้างคอนเน็กชั่นและเรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ที่ต่างจากไทย ซึ่งเป็นโมเดลที่จีนใช้อยู่ขณะนี้
โดยสิ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กำลังทำอยู่ และเห็นว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดี คือ 1. มีการก่อตั้งสถาบันใหม่ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมสังคม 2. การให้นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจช่วยพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำกลับมาใช้ใหม่ (commercialization of green and renewable energy) และ 3. โปรแกรมด้านพัฒนาผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เพื่อช่วยสนับสนุนให้ startup ค้นหาทุนและมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
นวัตกรรมแบบเปิด และ ศก.ไทย
“กานต์ ตระกูลฮุน” ในฐานะ board of trustee, TMA และหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและ digitalization โครงการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อนที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก คือ 0.2% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้มีการลงทุน 3-4% ของ GDP แต่ไทยได้ปรับสัดส่วนการลงทุนด้านนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดอยู่ที่ 0.6% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1% ในอีกปีหรือสองปีจากนี้
“ภาครัฐในไทยเริ่มมีแนวทางการผลักดันนวัตกรรมที่ชัดเจน เน้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านวิจัย หรือแม้แต่ให้สิทธิประโยชน์ภาษีรายบุคคล รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยภาครัฐข้ามไปทำงานในภาคเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศได้”
ก่อนหน้านี้ การทำวิจัยและพัฒนาในประเทศต่าง ๆ ต่างคนต่างทำ อาจมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยบ้าง แต่เอกชนมักไม่ค่อยได้เข้าร่วมด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ความรวดเร็วในการดำเนินงานต่างกัน หรือลำดับความสำคัญของการทำงานต่างกัน อาจารย์ต้องมีภาระงานสอนด้วย แต่ในช่วงสิบปีมานี้ หลายประเทศเริ่มมีการตั้ง Open Innovation Center เพื่อแสดงและเปิดเผยให้คนทั่วไปทราบว่าหน่วยงานนี้มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง และมีความต้องการเทคโนโลยีอะไรอีก หรือนักวิจัยคิดค้นงานซึ่งอาจยังไม่ตอบโจทย์ภารกิจใดในองค์กร แต่อาจไปเจอโครงการจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสนับสนุนกันได้ก็มี ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือสร้างความร่วมมือได้มากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น SCG เป็นองค์กรที่เน้นการลงทุนด้านวิจัย โดยเพิ่มงบฯวิจัยขึ้นทุกปี ปัจจุบันอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และมีจำนวนนักวิจัยของตัวเอง 700 คน รวมทั้งมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งไทยและต่างประเทศ 600 โครงการ และเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา SCG เพิ่งเปิดศูนย์นวัตกรรมแบบเปิด Open Innovation Center ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ รังสิต มีพื้นที่ราวหนึ่งพันตารางกิโลเมตร มีผู้เข้าชมตั้งแต่เปิด 6,500 คน โดยในจำนวนนี้ 25% เป็นนักวิจัยของ SCG อีก 50% มาจากมหาวิทยาลัยและราชการ อีก 20% จากภาคเอกชน ที่เหลืออีกราว 700 คนเป็นชาวต่างชาติ โดย Open Innovation Center แสดงถึงเทคโนโลยี สิทธิบัตร และโครงการซึ่งพัฒนาไปถึงระดับใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ (commercialization) ถือเป็นตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนวัตกรรมก็เกิดจากความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังถือเป็นพื้นที่หรือชุมชนของนักวิจัยอย่างแท้จริง
อีกภาคส่วนที่ควรให้ความสำคัญคือ SMEs และ startup ซึ่งปกติแล้ว SMEs และ startup จะไม่สามารถลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้มากนัก เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้ประโยชน์เต็มที่เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ จึงคิดว่าภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ซึ่งมีองค์ความรู้จำนวนมากควรเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำวิจัยให้ SMEs และ startup เพราะมหาวิทยาลัยอาจทำวิจัยตามความสนใจส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาด
ขณะที่ภาครัฐควรตั้งเป้าหมายผลักดันนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งตนมั่นใจว่า นวัตกรรมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่งในประเทศได้แน่นอน
Source: https://www.prachachat.net/ict/news-66008