เจรจา RCEP จบไม่ลง 4 ปี เปิดเสรีสินค้า-บริการไร้ข้อสรุป

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 462 Reads   

ในปี 2013 (2556) ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ (ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ได้ออก “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP)” และตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จในปี 2558 แต่ก็ต้องเลื่อนมาเป็นปี 2560 และมีสัญญาณว่าจะเลื่อนอีก 1 ปี

ด้วยเหตุ RCEP เป็นความตกลงในลักษณะ comprehensive agreement หมายถึงเจรจาพร้อมกันหมดทั้งสินค้า บริการ และการลงทุน ถือเป็น “การเปิดเสรีทั้งกว้างและลึก” ครอบคลุมทั้ง 16 ประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระดับความสัมพันธ์ในการเปิดเสรีของบรรดาสมาชิกแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น อาเซียน มีการเจรจาแบบ ASEAN+1 กับทั้ง 6 ประเทศ แต่ระหว่างคู่ 6 ประเทศนั้นไม่เคยทำเอฟทีเอกันมาก่อน

จะเห็นว่าในการประชุมระดับหัวหน้าคณะทำงาน RCEP ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 23-28 กรกฎาคมที่ผ่านมายังไม่สรุป เกี่ยวกับ “ข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า และรูปแบบข้อสงวนในการเปิดเสรีบริการ” ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ RCEP ทั้งฉบับที่มี 11 ประเด็น ดังนั้นจึงเหลือการประชุมระดับหัวหน้าคณะทำงานระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคมนี้ ที่ประเทศเกาหลี อีกเพียงรอบเดียวก่อนที่จะสรุปเสนอที่ประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 10-14 พฤศจิกายนนี้ แต่โอกาสที่จะ “ปิดการเจรจาทั้งฉบับ” ให้ทันภายในปีนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม หาก 16 ประเทศ “ยอมลดระดับมาตรฐาน” เพียงเพื่อให้การเจรจา RCEP บรรลุเป้าหมายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อาจทำให้ความตกลง RCEP ไม่ได้ประโยชน์ ดูด้อยกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จึงทำให้สมาชิก 16 ประเทศอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนว่าจะผลักดันให้ RCEP จบ หรือจะให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของผู้นำอาเซียนยังคงต้องการเดินหน้าผลักดันให้ RCEP เกิดขึ้น เบื้องต้นเป้าหมายต้องการลดภาษี 0% ในสินค้า 92% ของรายการสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันภายใน 15 ปี แต่ปัจจุบันประเทศคู่เจรจายังไม่สามารถปรับลดภาษีในสินค้า 92% ได้ ปรับลดได้เพียง 90% เท่านั้น เนื่องจากยังมีประเทศคู่เจรจาที่ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกัน เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เป็นต้น

“ส่วนตัว เชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนของกรอบเจรจาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ในการประชุม ASEAN Summit โดยสมาชิกจะพยายามหาข้อยุติร่วมกันเรื่องการลดภาษีสินค้าก่อน ส่วนการค้าบริการอาจต้องหารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง”

นายอรินทร์ จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนมองว่าการเจรจา RCEP มีความสำคัญ แต่ยังติดขัดในส่วนของบางประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งสมาชิกพยายามจะผลักดันให้การเจรจานี้บรรลุเป้าหมายให้ได้ในปี 2561 แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

Source: ประชาชาตธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-51448