“ดีอี” คุมเข้มเงินลงทุน2หมื่นล้าน ยกระดับโครงข่าย ดันไทยดิจิทัลฮับอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 443 Reads   

กระทรวงดีอีการันตีลงทุน “เน็ตประชารัฐ-เคเบิลใต้น้ำ” 2 หมื่นล้านบาท ไม่สูญเปล่า คุมเข้มเงินทุกเม็ดเล็งจ้างที่ปรึกษาตรวจรับโครงข่าย ยกระดับการแข่งขันประเทศดันไทยเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน แถมช่วยอัดฉีดเม็ดเงินกระจายลงท้องถิ่น

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ดีอีจะคุมเข้มการใช้จ่ายงบประมาณ 20,000 ล้านบาทในโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม ในส่วนเน็ตประชารัฐ 15,000 ล้านบาท และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของอาเซียน 5,000 ล้านบาท ทั้งในขั้นตอนการติดตั้งที่ลงนามร่วมกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จะมีคณะกรรมการจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบทุกขั้นตอนและในส่วนการตรวจรับโครงข่ายก็จะจ้างที่ปรึกษามาตรวจสอบด้วย

ล่าสุด โครงการเน็ตประชารัฐ บมจ.ทีโอทีติดตั้งแล้ว 74% หรือ 18,000 หมู่บ้าน จะครบ 24,700 หมู่บ้าน ภายในสิ้นปีตามกำหนด ส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ที่ให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ดำเนินการนั้น อยู่ในขั้นตอนให้คณะกรรมการคุณธรรมตรวจสอบร่างข้อกำหนดทางเทคนิค และจะเริ่มขยายประสิทธิภาพโครงข่ายเดิมให้เสร็จในปี 2561 ขณะที่เส้นทางใหม่เคเบิลใต้น้ำจากไทยไปฮ่องกงจะเสร็จในปี 2563

“เน็ตประชารัฐ ทีโอทีจ้างซับคอนแทร็กต์ระดับจังหวัด, อำเภอหลายสิบสัญญา จึงกระจายเม็ดเงินถึงระดับชุมชน มั่นใจว่าเงินลงทุนไม่เสียเปล่า เพื่อดึงดูดผู้ให้บริการคอนเทนต์โพรไวเดอร์จากต่างประเทศมาลงทุนในไทยผลักดันให้ไทยเป็นฮับไอซีทีอาเซียน”

ส่วนการบริหารจัดการโครงข่ายที่เป็นทรัพย์สินของกระทรวงดีอี ในส่วนของเน็ตประชารัฐ ทีโอทีเตรียมเสนอค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ ส่วนเคเบิลใต้น้ำแคทบริหาร

“อนาคต 2 โครงข่ายจะไปอยู่ในส่วน 2 บริษัทลูกที่รวมทรัพย์สินทีโอที และแคท ตั้งขึ้น (NBN co และ NDGC co) หรือไปรวมตั้งเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ”

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม เสริมว่า ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 65% ต่อปี ล่าสุดอยู่ที่ 14 GB ต่อคนต่อเดือน หากไม่มีการขยายประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาล โครงข่ายเดิมที่มีอยู่จะรองรับการใช้งานได้อีก 2 ปีเท่านั้น ส่วนโครงข่ายใหม่ที่ขยายขึ้นจะรองรับการใช้งานได้อย่างน้อย 30 TB และขยาย capacity ได้ต่อเนื่อง

“นอกจากช่วยเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังช่วยบาลานซ์ทราฟฟิกบนโครงข่ายที่เกิดขึ้น เพราะเส้นทางซับมารีนเคเบิลตอนนี้ 9 เส้นทาง 80% วิ่งลงภาคใต้ แต่เส้นทางใหม่ที่จะวางจะเกาะไปทางแผ่นดินใหญ่ขึ้นไปรองรับ AEC”

งบประมาณ 5,000 ล้านบาท จะใช้กับ 1.การขยายโครงข่ายบนบกเพิ่มช่องทางเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย 2.การขยายเส้นทางเชื่อม backhaul ในประเทศ ระหว่างสถานีเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งเป็นจุดขึ้นบกหลัก คือ ศรีราชา สงขลา สตูล ซึ่งเป็นการเพิ่ม capacity ศักยภาพการเชื่อมโยงภายในประเทศเพื่อรองรับทราฟฟิกให้สอดคล้องกับการขยายช่องทางระหว่างประเทศ และ 3.การสร้างเคเบิลใต้น้ำไทย-ฮ่องกง ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุนกับ 5 ผู้ให้บริการในเวียดนาม จีน และมาเลเซีย คาดว่าจะเรียบร้อยในปี 2563

Source: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/ict/news-51422