ปลัดดีอี เร่งเน็ตประชารัฐ-เชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐ

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 411 Reads   

ปลัดดีอีคนใหม่รับไม้ต่อผลักดันไทยแลนด์ 4.0 “เน็ตประชารัฐ-บิ๊กดาต้า-รีสกิลข้าราชการ-ปลดล็อก กม.” เดินหน้าตั้งสถาบัน IoT ขีดเส้น 3 เดือน อบรมตัวแทนชุมชน 24,700 หมู่บ้าน-อัพเกรดฐานข้อมูลหน่วยงานรัฐเสร็จ สิ้นปีดันบอร์ดดีอีเคาะวิธีเชื่อมโครงข่าย-ค่าบริการเน็ตประชารัฐ

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ได้รับการทาบทามให้มารับตำแหน่งเพื่อสานต่อการทำงานขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงดีอีมีหน้าที่สำคัญ ในการผลักดันให้ภารกิจในการนำดิจิทัลมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าต่อได้

โดยมีงานสำคัญ ได้แก่ 1.ผลักดัน “เน็ตประชารัฐ”ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากให้เกิดการใช้ประโยชน์ โดยในสิ้นปี ทีโอทีจะติดตั้ง 24,700 หมู่บ้าน เสร็จ ทำให้งานหลักใน 3 เดือนแรก คือการปูพื้นฐานความรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้มาก่อนทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ อาจไปไม่ถึง จึงต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจการใช้งาน

“ดีอีจะเป็นแกนกลางในการนำความรู้แอปพลิเคชั่นของภาครัฐที่มีและเป็นประโยชน์ การขายสินค้าและบริการที่มีผ่านไปรษณีย์ไทยอยู่แล้วไปสร้างความรู้แก่ประชาชน ออกแบบหลักสูตร ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, สาธารณสุข และมหาดไทย อบรมให้ความรู้ ตั้งแต่ พ.ย. รวมกลุ่มตัวแทนแต่ละหมู่บ้านอย่างน้อย 1 คน เข้าอบรมในลักษณะเทรนเดอะเทรนเนอร์ เพื่อให้ไปอบรมคนในชุมชนต่อใน 6 เดือนจะครอบคลุมทุกพื้นที่”

ขณะที่วิธีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และค่าบริการสำหรับประชาชนในพื้นที่ นอกเหนือจากจุดบริการฟรีไวไฟหมู่บ้านละ 1 แห่ง ไม่เกินสิ้นปีจะได้ข้อสรุป

“การเปิดให้เอกชนมาเชื่อมกับเน็ตประชารัฐ หลักการคือเป็นโอเพ่นแอ็กเซสให้ทุกราย ส่วนค่าบริการ รมว.ดีอีต้องพิจารณาหลายส่วน ทั้งความพร้อมในการจับจ่ายของชุมชน ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจแล้ว ต้นทุน และความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ บอร์ดดีอีจะพิจารณาหลักเกณฑ์”

2. ทำให้เกิดฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าประเทศไทย เป็นภารกิจตกค้างตั้งแต่ ม.ค. 2559 ดีอีมีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง และมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ รองรับการวางนโยบายและบริการของภาครัฐ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ที่ผ่านมาติดขัดเรื่องกฎระเบียบของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในส่วนชั้นความลับข้อมูล ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจต้องแก้ไขกฎหมาย

“นายกฯมอบหมายให้รองนายกฯประจิน (จั่นตอง) ดูแลต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้อมูลภาครัฐ การให้บริการประชาชน มีมติตั้งแต่ ก.ค.ว่า บริการประชาชนต้องไม่ขอสำเนาบัตร เพราะเชื่อมโยงฐานข้อมูลสำนักทะเบียนกลางแล้ว มี 39 บริการที่ไม่ต้องใช้สำเนาบัตร และอีกกว่า 100 แห่งที่ขอเชื่อมโยง นายกฯให้เสร็จใน 3 เดือน”

และในปีงบประมาณ 2561 ส่วนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ต้องมีแผนที่ทั้งหมดในอัตราส่วน 1:4,000 แผนบริหารจัดการน้ำของแต่ละหน่วยงาน บริการประชาชนที่ต้องเชื่อมฐานข้อมูลบัตรประชาชนเป็นหนึ่งเดียวที่ใช้เลข 13 หลักแทนเลขอื่น และงานของสภาความมั่นคงที่จะรองรับข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของรัฐบาล

3.ภารกิจสานต่อกฎหมายต่าง ๆ ทั้งไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ข้อมูลส่วนบุคคล รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายอื่นที่รองรับการใช้ข้อมูลดิจิทัล โดยขั้นตอนต้องไม่มาติดขัดที่กระทรวงดีอี หรือสำนักงานปลัดกระทรวงเด็ดขาด

“การบริหารจัดการต้องปรับเปลี่ยนไมนด์เซต และคนในสำนักปลัดดีอี รวมถึงมอบหมายนโยบายให้หน่วยงานใต้สังกัดให้มีบริการที่มีประสิทธิภาพ ต้องรีสกิลคนให้ตามทันโลก ทันเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะสำนักปลัดกระทรวงดีอีเป็นสมาร์ทออร์แกไนเซชั่น ทำตารางเทรนนิ่ง รับ 30 ตำแหน่ง จากอัตรากำลัง 209 ตำแหน่ง”

4.ตั้งสถาบัน IoT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) ในโครงการดิจิทัลพาร์ค ณ ศรีราชา โดยมอบหมายให้สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) องค์การมหาชน ดำเนินการทั้งเทรนนิ่ง การสร้างแรงงานใหม่ที่มีความรู้เฉพาะทาง และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้ ชักชวนเอกชนมาตั้งศูนย์พัฒนากลางที่เกี่ยวข้องกับ IoT และโทรคมนาคม อาจเป็นบริษัทที่บีโอไอชวนมาลงทุนอยู่แล้ว และด้วยพื้นที่กว่า 700 ไร่ จึงมีส่วนที่เหลือให้เอกชนมาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงศูนย์วิจัย และพัฒนาต่อเนื่องได้