2 ปี “ไทย-ญี่ปุ่น” ลุยระบบราง ซื้อโบกี้รถไฟฟ้า 46 ขบวน-ตั้งไข่ไฮสปีดเทรน

อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 625 Reads   

ความสัมพันธ์ระหว่าง “ไทย-ญี่ปุ่น” มีต่อกันมายาวนานครบ 130 ปี เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ในนี้มีการพัฒนาระบบรางที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังร่วมกันเร่งผลักดันตามที่ได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOC) เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาล คสช.

ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี แผนงานโครงการมีความก้าวหน้าตามลำดับ เริ่มจาก “รถไฟความเร็วสูง” เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือกันพัฒนาโครงการ โดยใช้เทคโนโลยีซินคันเซ็นของญี่ปุ่น มี “ไจก้า-องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น” ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ช่วยหาแหล่งเงินลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร

ความคืบหน้าแบ่งสร้าง 2 เฟส ในเดือน พ.ย.นี้ไจก้าจะศึกษาเฟสแรก “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก” ระยะทาง 380 กม.แล้วเสร็จ จากนั้น “คมนาคม” จะเสนอโครงการให้ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติภายในปี 2560 เริ่มออกแบบรายละเอียดปี 2561 จะใช้เวลา 1 ปี เริ่มสร้างปี 2562 แล้วเสร็จปี 2565

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว รอไจก้าออกแบบรายละเอียด เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุน 276,225 ล้านบาท สูงกว่าที่ไทยศึกษาไว้ 233,771 ล้านบาท ประมาณ 42,454 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 จาก “พิษณุโลก-เชียงใหม่” ไจก้าศึกษาใช้เงินลงทุน 269,338 ล้านบาท มากกว่าไทยศึกษาอยู่ที่ 216,656 ล้านบาท ประมาณ 52,682 ล้านบาท

มาดูความคืบหน้า “การพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้จากกาญจนบุรี-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ รวม 574 กม. ฝ่ายไทยขอให้ญี่ปุ่นเร่งศึกษาแผนการพัฒนาเส้นทาง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เบื้องต้นเป็นรถไฟขนาด 1 เมตร โดยปรับปรุงเส้นทางเดิม อนาคตจะก่อสร้างเป็นทางคู่เชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจทวาย ประเทศเมียนมากับท่าเรือแหลมฉบัง

ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ไทยขอให้ญี่ปุ่นศึกษาเส้นทาง “แม่สอด-มุกดาหาร” จะเริ่มสำรวจเส้นทางร่วมกันเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม

ที่เริ่มมีเค้าโครงให้เห็น “การขนส่งสินค้าทางรถไฟ” ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดสำรวจรายละเอียดการดำเนินการให้บริการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้า

“ทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า หลังทดลองเดินรถตู้ขนส่งสินค้าขนาด 12 ฟุต พบว่าไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทย ตกลงจะใช้ขนาด 20 ฟุต กับ 40 ฟุต พร้อมกับจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นรูปแบบ SPV เพื่อพัฒนาเดินรถขนส่งสินค้าทั่วประเทศ อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้ข้อตกลงที่ร่วมกัน คาดว่าในปี 2561 จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สุดท้าย “โครงการรถไฟฟ้าในเขตเมือง” ที่ผ่านมาไทยสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าจากซัพพลายเออร์ญี่ปุ่น มีสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) 21 ขบวน หรือ 63 ตู้ วงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ผ่านกลุ่มกิจการร่วมค้ามารุเบนิ-โตชิบา มี “J-TREC” หรือ บจ.เจแปน ทรานสปอร์ตเอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้า และมี “JR-East” หรือ บจ.อีสต์เจแปน เรลเวย์ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น รับผิดชอบบำรุงรักษา 10 ปี

และสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 32,399 ล้านบาท จากกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-ซูมิโตโม) มีทั้งหมด 25 ขบวน ขบวนละ 4-6 ตู้

เป็นออร์เดอร์ลอตใหญ่ในรอบกว่า 30 ปี