เช็กแนวรบเขตเศรษฐกิจอีอีซี ธุรกิจไทย-เทศรวมหัวบุกลงทุนใหม่

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 2560
  • Share :
  • 499 Reads   

นับตั้งแต่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ถูกประกาศขึ้นเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ รัฐบาลและภาคเอกชนต่างเร่งเดินหน้าให้โครงการที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวในงานสัมมนา “EEC แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” จัดโดยเครือมติชน ว่าร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อมารองรับและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ขณะเดียวกันได้กำหนดระเบียบการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ในโครงการ EEC ที่เตรียมจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์หน้านี้ด้วย

ทั้งนี้ โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP จะประกอบไปด้วย 1) โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 160,000 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 180,000 ล้านบาท 3) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 80,000 ล้านบาท ก็จะเข้าสู่กระบวนการร่าง TOR ในปลายปีนี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2561 “หลังจากนั้นเราจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือนคัดเลือกผู้ลงทุน ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ชนะโครงการลงทุนทั้งหมดในช่วงครึ่งปีหลัง” นายอุตตมกล่าว

ใช้หุ่นยนต์เข้าสู่อุตฯ 4.0

ขณะที่มุมมองของภาคเอกชนไทยตลอด 6 เดือนที่ได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ ทั้งในเวที “ประชารัฐ” และเวทีอื่น ๆ นั้น นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง EEC จะเป็นตัวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาคบริการ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 50% มีสัดส่วนการใช้แรงงาน 40%

ดังนั้น แผนที่ได้ร่วมกันวางไว้ก็คือให้ จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์การจัดประชุม แสดงสินค้า และนิทรรศการ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดระยอง เป็นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงธุรกิจควบคู่กัน โดยมีระบบคมนาคมเชื่อมแต่ละจังหวัดเข้าด้วยกัน และจะใช้ธุรกิจโรงแรม ศูนย์นิทรรศการ ที่มีอยู่เดิมเป็นแหล่งเทรนนิ่ง เรียนรู้เพื่อสร้างบุคลากรด้านบริการขึ้นมา

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยสภาวะของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังก้าวสู่ยุค “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีแห่งการทำลายล้าง ส่งผลทำให้สมาชิกใน 45 กลุ่มของ ส.อ.ท. “ตื่นตัวเพราะกลัวสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งพาแรงงาน” ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ “อุตสาหกรรม 2-2.5” ที่ยังใช้เครื่องจักรกลธรรมดาและกึ่งอัตโนมัติ มีเพียงรายใหญ่และบริษัทต่างชาติเท่านั้นที่อยู่ในระดับ “อุตสาหกรรม 3.5” ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องมีแผน “เพราะไทยไม่สามารถไปถึงอุตสาหกรรม 4.0 ภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ได้”

ทาง ส.อ.ท.จึงกำหนดแผนไว้ว่า ในช่วง 5 ปีแรก คือ การผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ระดับ 2 ไปสู่อุตสาหกรรมระดับ 3 โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ได้ ในสัดส่วนถึง 75% เพื่อเข้ามาเพิ่มผลผลิต/หัวให้ได้ 3 เท่า การลดต้นทุน-ลดของเสีย-ลดการใช้พลังงานที่กระทบสิ่งแวดล้อม และในช่วงอีก 5 ปี ต่อมา จะผลักดันอุตสาหกรรมกลุ่มที่อยู่ระดับ 3 ให้ไประดับ 4 โดยการใช้ “อินเทอร์เน็ต” เชื่อมต่อกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของรัฐบาล เพื่อสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้น

ขณะที่เป้าหมายของประเทศไทยในอนาคต คือ การเป็นศูนย์กลางการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้น การสร้าง “ดีมานด์” ขึ้นมานั้น “รัฐบาลทำถูกต้องแล้วที่สนับสนุนเรื่องเงินกู้ ลดหย่อนภาษี 50% สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นทำจากปัจจุบันที่ไทยยังใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอัตราที่ 53 ตัว/10,000 คน/ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับหลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ อยู่ที่ 398 ตัว ไต้หวัน 190 ตัว แต่คนไทยจะไม่ตกงานเพราะจะเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา เวลาต่อสัปดาห์ของการทำงานจะลดลง ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวไปในตัวเช่นกัน” นายเกรียงไกรกล่าว

ปตท.เนรมิต EECi วังจันทร์วัลเล่ย์

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใน EEC ปตท.จะใช้พื้นที่ “วังจันทร์วัลเล่ย์” จังหวัดระยอง 3,000 ไร่ จัดตั้งศูนย์ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม หรือ EECi ซึ่งได้เริ่มดำเนินการว่าจ้างบริษัทเพื่อออกแบบให้เป็นเมืองที่ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดึงนักวิจัยทำงานร่วมกัน โดย ปตท.จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และแบ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS), สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโครงการปลูกป่าวังจันทร์ รวมกันประมาณ 1,000 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่รอการพัฒนาร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับบริษัท ปตท. เน้นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ/ระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) การเตรียมเข้าสู่การให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องบริเวณสนามบินอู่ตะเภากับกองทัพเรือ โดย ปตท.จะลงทุนปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำมันอากาศยานและถังเก็บน้ำมัน ขณะเดียวกันจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมไบโออีโคโน ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรมาต่อยอด นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ล่าสุดได้ลงทุนตั้งโรงงานไบโอเคมิคอล กับโรงงานไบโอพลาสติก นำร่องไปแล้ว

ขณะที่ นายสมศักดิ์ กาญจนาคาร ผู้อำนวยการ บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจกับโครงการ EEC มาก เห็นได้จากการเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรี METI มองว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุน ด้วยภูมิประเทศที่ดี สามารถเชื่อมโยงไปประเทศอื่นได้ ขณะเดียวกัน การที่รัฐสนับสนุนและเตรียมพร้อมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างนิคมอุตสาหกรรม และที่สำคัญ อีอีซีน้ำไม่ท่วม

แต่นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงกังวลในเรื่องของนโยบายว่า “จะเดินตามแผนหรือไม่” กับปัญหาการขาดบุคลากร โดยเฉพาะ “ช่างฝีมืออาชีพ” สำหรับภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็ได้วางแผนการสร้างและพัฒนาบุคลากรขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ทางฮิตาชิฯจึงมั่นใจที่จะลงทุนในโครงการวางระบบ IoT Platform Center หรือบิ๊กดาต้า

สุดท้าย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ร่วมกันทำงานระหว่างรัฐและเอกชน ทุกส่วนได้ช่วยกันทำแผนขึ้นมา และบางแผนกำลังจะเกิดเป็นรูปธรรม “เราจะไม่หยุดเดิน และต้องทำอย่างเต็มที่ เหมือนการสู้รบทำสงคราม และในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะกลับมา update ให้เห็นสิ่งที่ EEC ได้เดินหน้าไปแล้วอย่างไร” นายคณิศกล่าว