กระทรวงอุตฯ ปรับกลยุทธ์ปล่อยกู้เอสเอ็มอี มั่นใจใน ก.ย.นี้ เงินถึงมือSMEsไม่ต่ำกว่า9,900 ล้าน

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ย. 2560
  • Share :

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มั่นใจภายใน ก.ย. นี้ เงินถึงมือ SMEs ไม่ต่ำกว่า 9,900 ล้านบาท แน่นอน

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยขณะนี้การดำเนินการพิจารณาสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ณ วันที่ 14 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา มีจำนวนเอสเอ็มอียื่นคำขอรับสินเชื่อทั้งสิ้น 3,292 ราย วงเงิน 16,836 ล้านบาท

และเพื่อให้การดำเนินการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ปรับกระบวนการดำเนินงานให้มีความกระชับและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับสัดส่วนวงเงินสินเชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการของเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ การปรับกระบวนการดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานไม่กระทบต่อเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเดิม ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เหลือเพียง 2 ขั้นตอนเท่านั้นพิจารณาจากด้านของคุณสมบัติ และวัตถุประสงค์ในการขอรับสินเชื่อเป็นสำคัญ จากนั้นจะส่งเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อได้ทันที
2. กำหนดให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำส่วนกลาง/ประจำจังหวัด รวมถึง คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ประจำส่วนกลางและประจำจังหวัด เปิดการประชุมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง จากเดิมประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
3. ผ่อนปรนการเรียกตรวจเอกสาร โดยขอให้ส่งเฉพาะเอกสารที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาก่อน ส่วนเอกสารประกอบอื่นๆ สามารถส่งตามภายหลังได้
4. ปรับสัดส่วนวงเงินสินเชื่อ ซึ่งเดิมรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท จะอยู่ที่สัดส่วน 75% และรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ที่สัดส่วน 25% มาเป็นสัดส่วน 50:50 เท่ากัน กล่าวคือ สินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 50% และรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 50% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของกองทุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่ ที่จำเป็นใช้วงเงินสูงขึ้นในการลงทุนและปรับปรุงกิจการ

ทั้งนี้ การปรับกระบวนการดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้สามารถย่นระยะเวลาการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงมีประสิทธิภาพในการพิจารณากระบวนการต่าง ๆ เท่าเดิม โดยคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 9,900 ล้านบาท และภายเดือนตุลาคมจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน

ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นทุนช่วยเหลือ สนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงช่วยเติมเต็มให้เอสเอ็มอีที่มีอุปสรรคไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนตามปกติไทย โดยการนำเงินทุนดังกล่าวนำไปลงทุนและปรับปรุงกิจการ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้แก่เอสเอ็มอี ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการตัดสินใจในรายละเอียดของการลงทุน เช่น แบบก่อสร้าง spec เครื่องจักร จำเป็นต้องมีเอกสารข้อมูลประกอบการลงทุน ถึงแม้กองทุนจะผ่อนปรนเอกสารให้ตามกระบวนการดังกล่าว แต่ผู้กู้ก็ต้องใช้เวลาตัดสินใจลงทุนหรือปรับปรุงกิจการ ดังนั้น สินเชื่อกองทุนจึงมีกระบวนการแตกต่างจากสินเชื่อปกติทั่วไปที่เน้นให้เงินทุนหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี โทร. 1358 www.smessrc.com