ตอบ 6 คำถาม ดัน “อีอีซี” ข้อสงสัยกรณีสิทธิเช่าที่ดิน99ปี-เอื้อเอกชน-ใช้งบฯสูง?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้รวบรวมคำถาม คำตอบที่เป็นประเด็นข้อสงสัยของสังคมในการที่ ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี กำลัง จะเข้าสู่ การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยได้ตอบคำถามที่ เคยถูกหยิบยกขึ้นมาจาก สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ดังนี้
ประเด็นคำถามเกี่ยวกับ สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุนในพื้นที่ EEC การดำเนินโครงการในมิติต่างๆ
1. ถาม: สิทธิในการใช้ที่ดินของนักลงทุนต่างชาติที่ยาวถึง 99 ปี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ระยะเวลายาวเกินไป
ตอบ: คำถามนี้อยู่บนความเข้าใจที่ผิด เพราะพรบ. EEC กำหนดระยะเวลาที่ให้สิทธิการเช่าใช้ที่ดินนั้น คือ สูงสุด 50 ปี และต่อได้อีกไม่เกิน 49 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้มีกฎหมายที่กำหนดการใช้ที่ดินระยะยาวอยู่แล้ว เช่น
- พรบ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรม พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการเช่าไว้ 30-50 ปี และให้ต่ออายุการเช่าอีกได้อีกไม่เกิน 50 ปี
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 กำหนดให้การเช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 50 ปี และ อาจต่ออายุการเช่าได้อีกตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
- นอกจากนี้ในประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซียกำหนดให้เช่าได้ไม่เกิน 99 ปี กัมพูชา ลาวกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมได้สูงสุด 99 ปี เวียดนาม 70 ปีและต่อได้หลายครั้ง
- นอกจากนี้ในด้านการถือครองที่ดิน ปัจจุบัน พรบ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้ง พรบ.ส่งเสริมการลงทุนฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิถือกรรมสิทธิที่ดินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ตามอายุบัตรส่งเสริม
2. ถาม: ปริมาณการใช้งบประมาณแผ่นดินในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ EEC นั้น ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มากกว่ากรอบงบประมาณของรัฐบาลใด ๆ ก่อนหน้านี้
ตอบ: รัฐบาลที่ผ่านๆมา เห็นความจำเป็นของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยกำหนดไว้ 1.5 ล้านล้านบาท บ้าง 2.0 ล้านล้านบาทบ้าง แต่ไม่ได้ดำเนินการ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะขยายให้ EEC เป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก ก็อยู่บนความจำเป็นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา
โครงการหลัก ๆ เกือบทั้งหมดใน EEC ที่จริงเป็นการ “ริเริ่ม” และ “อนุมัติ” จากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และมอร์เตอร์เวย์ และโครงการเหล่านี้ผ่านการพิจารณาและบางโครงการก็ได้ดำเนินการทำ EIA แล้วเสร็จไป แล้วหลายโครงการก็อยู่ในกระบวนการทำ EIA กันมาโดยต่อเนื่อง
EEC ทำหน้าที่ประสานโครงการเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะ
1) สนามบินอู่นตะเภาต้องเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก คือ เป็นฮับของธุรกิจการบินของไทย
2) รถไฟความเร็วสูงต้องเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ และสนับสนุนการท่องเที่ยว ลดความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
3) 3 ท่าเรือน้ำลึกต้องมีรถไฟรางคู่เข้าเชื่อมเพื่อเพิ่มการขนส่งทางราง ลดการขนส่งทางถนนโดยเร็วที่สุด ให้ได้มากที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทาง และลดอุบัติเหตุ
โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นใน EEC คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก อย่างไรก็ตามเป็นความตั้งใจที่ยาวนานหลายทศวรรษตั้งแต่มีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ครั้งนี้คือการทำให้วิสัยทัศน์และความตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ก็เห็นความจำเป็นในการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ทางเชิงพาณิชย์ตลอดมา จึงเป็นความภูมิใจของ EEC ที่รัฐบาลชุดนี้สามารถผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน
3. ถาม: การให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เป็นการให้ประโยชน์แก่เอกชนบางราย
ตอบ: ต้องเข้าใจว่าทุกทางเลือกมีข้อจำกัด มีข้อดีข้อเสีย ดังนั้นเพื่อป็นการลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ในการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นการไม่ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อลงทุนกับโครงการต่าง ๆ รัฐบาลได้เลือกที่จะใช้วิธีการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ที่รัฐบาลเองจะมีเอกชนเป็นคู่สัญญา
การหาเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำได้ 3 ทาง ซึ่งมีความเหมาะสมต่างกัน
1) ใช้งบประมาณ … ไม่เหมาะสมเพราะงบประมาณมาจากภาษีอากร ซึ่งควรนำไปช่วยเหลือประชาชนทางด้านการศึกษา การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การป้องกันประเทศ และการสาธารณสุข หากใช้วิธีนี้ไม่มีงบประมาณไปช่วยด้านสังคม และช่วยคนจน
2) เงินกู้ …เหมาะสมกับบางโครงการ เช่นรถไฟรางคู่ อ่างเก็บน้ำ เพราะเป็นโครงการที่ความจำเป็นสูง แต่มีผลตอบแทนทางการลงทุนน้อย และรัฐต้องลงทุนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาด และเอกชนไม่สามารถร่วมลงทุนได้ หากใช้วิธีนี้มาก ๆ เกินกำลังจะเป็นหนี้สาธารณะไปถึงคนรุ่นต่อไป
3) การร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน เหมาะสำหรับโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงิน และเอกชนสนใจลงทุนโดยหากรัฐจะให้เงินชดเชยบ้างก็ได้ กรณีเหมาะสมสำหรับรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะเป็นการประหยัดเงินงบประมาณให้ประเทศสามารถไปทำงานที่สำคัญให้กับประเทศ และประชาชนผู้มีรายได้น้อย หากใช้วิธีนี้ ได้การลงทุนจากเอกชนมีเงินเหลือจำนวนมาก และได้ใช้ประโยชน์จากโครงการทันที โดยต้องดูแลกำกับโครงการตามสัญญา
ด้วยวิธีนี้เอกชนผู้ร่วมลงทุนเองจะเข้ามาบริหารพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้จากสัญญา ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ย้ำว่าวิธีนี้เป็นการลดภาระทางงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลได้
4. ถาม: การใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล ควรกระจายไปในทุก ๆ พื้นที่ มากกว่าการลงกับจังหวัดเพียงแค่สามจังหวัดในภาคตะวันออกเท่านั้น
ตอบ: พื้นที่นี้ได้ถูกวางตำแหน่งและได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุค Eastern Seaboard เมื่อสามทศวรรษที่แล้ว ให้เป็น “ประตูของประเทศ” ท่าเรือขนาดใหญ่ก็ตั้งอยู่ที่นี่ เป็นปากประตูของเศรษฐกิจทั้งประเทศ มิใช่เป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์เป็นของตนเอง การลงทุนพัฒนากับประตูของประเทศ เป็นการลงทุนเพื่อคนทั้งประเทศ ที่ผู้ได้รับประโยชน์คือประเทศไทยทั้งหมด มิใช่พื้นที่เดียว
คนในพื้นที่ 3 จังหวัด เขาคิดตรงกันข้ามว่าทำไมต้องมาแบกรับภาระ การเป็นประตู และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจให้กับคนทั้งประเทศ
นอกจากนี้การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานมิได้พิจารณาอย่างเป็นอิสระจากโครงข่ายอื่น ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ หากแต่ได้มีการวางแผนให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น การขนส่งระบบรางพื้นที่นี้ ที่จะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ จากหนองคาย เชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับสนามบินอู่ตะเภาที่ได้รับการพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ จะเป็นการลดภาระจากสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่แออัดอยู่แล้ว และเป็นการกระจายตัวออกมา
5. ถาม: สิทธิพิเศษ การลดภาษีนิติบุคคล ให้แก่นักลงทุนที่ให้มากกว่าที่เคยเป็น
ตอบ: เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่าสิทธิพิเศษที่มีการอ้างถึงว่า เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมาย BOI ที่มีอยู่เดิม เมื่อมีระเบียบของ BOI ระบุเอาไว้ และเป็นไปตามกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ทั้งหมดมิได้มีอะไรที่มากเกินไปกว่าเพดานที่ BOI ได้มีการระบุเอาไว้
กรณีกระทรวงการคลังซึ่งได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% “เป็นการสร้างฐานภาษีใหม่” เพราะเมื่อเราเก็บภาษีแพง ผู้บริหาร นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ไม่เปิดบัญชีหรือยื่นภาษีในประเทศไทย แต่เปิดบัญชีเงินเดือนอยู่ต่างประเทศ เข้ามาทำงานโดยไม่เสียภาษี ดังนั้นการกำหนดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ทำให้ประเทศไทยได้บัญชีเงินเดือนเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทย และเรากลับได้รับภาษีส่วนนี้ 17% เพิ่มเติมแทน
6. ถาม: อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ดึงเข้ามาไม่ได้ช่วยสร้างงานเพิ่มเติมให้กับคนไทย และยังเป็นอุตสาหกรรมเบาที่ อาจจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายการลงทุนได้ง่าย
ตอบ: ไม่มีอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC
ภูมิทัศน์ อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก อุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปมาก EEC จึงวางพื้นฐานสำหรับ “อุตสาหกรรมใหม่” ที่ กำลังเติบโต และหากว่าเราไม่พัฒนาตาม ที่สุดก็จะโดนแซงไป ยกตัวอย่างเช่น
- อุตสาหกรรมการบิน หากไม่มีการนำอุตสาหกรรมการบินเข้ามาในประเทศไทย ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลก และอุตสาหกรรมในภูมิภาคเราก็จะโดนทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง
- อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า คืออุตสาหกรรมที่จะมีบทบาทมากกว่าอุตสาหกรรมรถเครื่องยนต์สันดาป หากไม่วางพื้นฐานประเทศไทยก็จะโดนทิ้งไว้เบื้องหลัง
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ Automation ก็คือทิศทางอุตสาหกรรมโลก เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมที่จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและทั้งหมดนี้ คนไทยจะอยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนไปด้วย