สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ. อีอีซี “สมคิด”ชี้เป็นแม่แบบสร้างความเจริญครั้งใหม่ให้ประเทศ

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2560
  • Share :
  • 501 Reads   

วันที่ 28 กันยายน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ด้วยเสียงเอกฉันท์ 175 คะแนน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 30 คน กำหนดกรอบเวลาทำงานต้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันก่อนส่งกลับมาให้ สนช.ลงมติอีกครั้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ระบุ หลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า รัฐบาลมุ่งหวังให้จัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor : EEC) เป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย และแนวทางที่เหมาะสมให้สอดรับกับการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถดึงเทคโนโลยีชั้นสูงมาสู่ประเทศไทย ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเปรียบเหมือนแม่แบบในการสร้างฐานความเจริญเติบโตครั้งใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลเลือกพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมในระบบที่สามารถต่อยอดการพัฒนาได้ทันที และมีอุตสาหกรรมหลักที่ที่เป็นฐานอุตสาหกรรมอื่นตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก การตราร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานปัจจุบันไม่เอื้อต่อการบูรณาการ เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีองค์ประกอบเชื่อมโยงซับซ้อนในหลายมิติ ซึ่งต้องการการบริหารจัดการพื้นที่ในทุกมิติให้เกิดผลอย่างเต็มศักยภาพ และร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นแม่แบบของการพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ไม่ได้ให้อำนาจแก่เลขาธิการสำนักงานฯ ในการอนุมัติหรือจัดการแต่เพียงผู้เดียว แต่ในที่สุดแล้วสิทธิพิเศษที่จะให้แก่กันจริง ๆ จะมีอยู่เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นไม่ใช่ให้ทั้งหมด ซึ่งเรียกว่าเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพียงแต่ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ยกเอาขั้นตอนของกฎหมายปกติมาใส่ไว้ในกฎหมายฉบับนี้เท่านั้นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เพราะถ้าใช้เฉพาะขั้นตอนตามกฎหมายเดิมจะต้องผ่าน รมว.คมนาคม รมว.กลาโหม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมติคณะรัฐมนตรี

ที่มา : ประชาชาติ

https://www.prachachat.net/economy/news-46799