กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วม UNIDO จัดงาน Green Scrap Metal Thailand 2020 ประชาสัมพันธ์โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน

ก.อุตฯ จัด Green Scrap Metal Thailand 2020 หวังอัดฉีดเงินลงทุนกว่า 560 ลบ. สร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะสีเขียว

อัปเดตล่าสุด 30 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 725 Reads   

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จัดงาน Green Scrap Metal Thailand 2020 เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ และสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะมีการลงทุนคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 560 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ Green Scrap Metal Thailand 2020 ถึงกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งผลักดัน BCG Model ตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่เน้นเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และลดการปลดปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ยังมีสารมลพิษบางประเภทที่มีการปลดปล่อย  โดยไม่จงใจ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน เช่น ไดออกซินและฟิวแรน  หรือที่รู้จักกันในนามของสาร U-POPs โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีปลดปล่อย U-POPs คืออุตสาหกรรมการหลอม  เศษโลหะ กอปรกับประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน จึงมีพันธกิจสำคัญที่ต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษเหล่านี้

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ริเริ่มโครงการ Green Scrap Metal Thailand หรือโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  การป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องการลดมลพิษแล้ว ยังช่วยในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและประหยัดพลังงานด้วย ที่สำคัญโครงการของเรามีงบประมาณที่ได้รับจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) จำนวน 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงโรงงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซี่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะมูลค่าไม่น้อยกว่า 560 ล้านบาท

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมถึงงานสัมมนาในวันนี้นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจหรือ U-POPs  ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของเศษโลหะ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะในโรงงานเท่านั้น แต่การลดสารมลพิษนี้สามารถเริ่มจากตัวเราได้ โดยหากเราคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทางก็จะช่วยลดสารปนเปื้อนก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดแหล่งกำเนิดของสาร U-POPs ได้ สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วย การลงนามในสัญญารับการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด บริษัท ทาทา สตีล การผลิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม จำกัด และ บริษัท ไดกิ อลูมิเนียม อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัด และยังมีการเปิดรับสมัครโรงงานที่สนใจเพิ่มเติม เนื่องจากยังมีงบประมาณสนับสนุนเหลืออีกกว่า 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดคลิปวิดีโอในหัวข้อ “การจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน” ชิงเงินรางวัลกว่าหนึ่งแสนบาท ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 50 ทีม รวมทั้งการแสดงนิทรรศการของหน่วยงานพันธมิตร อาทิ คลินิกโรงหลอมเพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิค การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมของโครงการในปีหน้า (พ.ศ. 2564) เรามีแผนจะจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการเศษโลหะและการนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมกว่า 20 หลักสูตร และจะจัดทำคู่มือปฏิบัติงานเพื่อแจกจ่ายให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะด้วย โดยคาดว่าตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปีของโครงการ จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ U-POPs และการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อลดมลพิษจากการผลิตได้มากกว่า 1,900 ราย รวมทั้งมีผู้ประกอบการที่ปรับปรุงกระบวนผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 560 ล้านบาท และจะสามารถลดการปลดปล่อย U-POPs จากโรงงานได้มากกว่าร้อยละ 20

พร้อมกันนี้ ในงานดังกล่าว กพร. ยังได้เปิดตัวระบบการประเมินประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร หรือที่เรียกว่า CEPAS (Circular Economy Performance Assessment System) เพื่อให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) “โดยระบบ CEPAS นี้ สามารถช่วยผู้ประกอบการในหลายเรื่อง เช่น ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างการเติบโตทางธุรกิจจากการใช้ประโยชน์กากของเสียและวัสดุเหลือใช้ ตลอดจนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร อีกทั้งยังสามารถเทียบเคียงสมรรถนะของตนเองกับรายอื่นได้ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาทดลองใช้ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ