ดีพเทค สตาร์ทอัพ อีอีซี เอ็นไอเอ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

เอ็นไอเอ ส่งไม้ต่อบิ๊กธุรกิจในอีอีซี ร่วมลงทุนดีพเทคสตาร์ทอัพด้าน ARI-Tech

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2564
  • Share :

เอ็นไอเอ อัพดีกรีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ผ่านดีพเทคสตาร์ทอัพด้าน ARI-Tech (AI, Robotic และ Immersive) รวมถึงการใช้ IoT พร้อมส่งไม้ต่อบิ๊กธุรกิจร่วมลงทุน 10 สตาร์ทอัพฝีมือดี

Advertisement

วันที่ 10 กันยายน 2564 นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ NIA และที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า กิจกรรมหลักของโครงการตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นการเร่งสร้างและยกระดับความสามารถของสตาร์ทอัพด้าน ARI-Tech ให้เป็นที่ประจักษ์ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องระยะเวลาและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สตาร์ทอัพเหล่านั้นก็สามารถแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและทำงานจริงร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรในพื้นที่อีอีซีได้เป็นอย่างดี โดยสามารถตอบโจทย์ให้กับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดสูง เช่น ตลาด Smart Energy, Smart Retail, Industry 4.0, Digital Transformation และเชื่อมโยงกับศักยภาพของพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตและเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่สำคัญของประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนทั้งการเกษตรและชุมชน

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า NIA ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ภายใต้โปรแกรม Global Startup Hub: EEC ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการต่อยอดธุรกิจสตาร์ทอัพให้มีโอกาสได้รับการลงทุน และมีช่องทางการทำตลาดกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี รวมถึงเพื่อยกระดับพื้นที่อีอีซีให้เป็นพื้นที่แห่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ บริษัทและหน่วยงานมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงเป็นพื้นที่แห่งการผลักดัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

โดยในปีนี้ NIA นำร่องสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านอารีเทค (ARI-Tech) ซึ่งประกอบด้วย Artificial Intelligence หรือ AI เทคโนโลยีทีมีความสามารถในการทำความเข้าใจและเรียนรู้องค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา Robotic หรือ หุ่นยนต์ และ Immersive ซึ่งเป็นนวัตกรรมเสมือนจริง รวมถึงการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตควบคุมสรรพสิ่ง (IoT) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถเชื่อมโยงกับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซีที่จะนำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและเติมเต็มมูลค่า ช่วยยกระดับความโดดเด่นในด้านการเป็นฐานแห่งการผลิต ตลอดจนเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจที่จะลงทุนหรือขยายธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวได้ต่อไป

Advertisement

NIA ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ จำนวน 10 ทีม เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีโอกาสได้เข้าไปพัฒนากระบวนการทางอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในพื้นที่อีอีซีในรูปแบบ co-creation เพื่อทำให้สตาร์ทอัพเข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และนำเทคโนโลยีที่มีไปต่อยอดในอุตสาหกรรมที่อาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน จนสามารถนำไปขยายผลในเชิงธุรกิจได้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมให้กับสตาร์ทอัพผ่านกระบวนการเรียนรู้ การให้คำปรึกษา และการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสที่สำคัญ ได้แก่ 1) โอกาสการขยายตลาดใหม่ 2) โอกาสการสร้างความความร่วมมือกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต่อเนื่องถึงการสร้างธุรกิจใหม่ร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ 3) โอกาสการปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ ตลาด และห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สำคัญต่อการยกระดับระบบนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกของไทยที่ในอนาคตสามารถขยายธุรกิจในระดับนานาชาติต่อไป

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า สตาร์ทอัพแต่ละทีมได้พัฒนาโครงการอย่างเข้มข้นผ่านการทำงานจริงร่วมกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำในพื้นที่อีอีซี โดยได้รับคำแนะนำทั้งทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมแก้โจทย์ปัญหาหรือต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาจากบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดระยะเวลาโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพแบบเจาะลึก และการจับคู่สตาร์ทอัพและบริษัทพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย

1. AltoTech: AIoT แพลตฟอร์มวิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดการการใช้พลังงานภายในโรงแรม หรืออาคารแบบอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับ บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด

2. AUTOPAIR: แพลตฟอร์มบริหารจัดการชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อและบริหารค่าใช้จ่าย ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทำงานร่วมกับ บริษัท เอ็น ดี รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)

3. BlueOcean XRSIM+: แพลตฟอร์มจำลองการฝึกเสมือนจริง ส่งมอบประสบการณ์การฝึกปฎิบัติงาน (OJT) ทะลายข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ทำงานร่วมกับ EEC Automation park ม.บูรพา และสถาบันไทย-เยอรมัน

4. Crest Kernel: ระบบตรวจสอบความปลอดภัยและวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภค บนข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ด้วย DeepEyes ทำงานร่วมกับ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน)

5. ENRES: AIoT แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายอาคารและโรงงานสู่ยุค 4.0 ทำงานร่วมกับ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

6. GENSURV: รถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับนำทางด้วยเลเซอร์ สำหรับการขนย้ายพาเลทในคลังและสายการผลิต ทำงานร่วมกับ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) จำกัด(มหาชน)

7. IFRA: เครื่องมือช่วยวิศวกรในโรงงานเก็บข้อมูลเครื่องจักรและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง ทำงานร่วมกับ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด

8. MOVEMAX: แพลตฟอร์มบริหารงานขนส่งและกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ทำงานร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

9. VERILY VISION: ระบบกล้อง AI เก็บข้อมูล ทะเบียนรถขนส่ง และหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์สินค้าอัตโนมัติ สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ ทำงานร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

10. ZEEN: ระบบ AI สำหรับบริหารและจัดการขายสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับร้านค้าปลีกอย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำงานร่วมกับ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด”

 

#สตาร์ทอัพไทย #เอสเอ็มอีไทย #Deep Tech ไทย #Deep Tech ในไทย #เทคโนโลยีเชิงลึก #ดีพเทค #Deep Technology #Artificial Intelligence #AI #Robotic #เทคโนโลยีหุ่นยนต์ #Immersive #นวัตกรรมเสมือนจริง #IoT #อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #เอ็นไอไอ #NIA

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH