วว. จับมือ ม. ศรีปทุม ร่วมวิจัยฯ ด้านวิศวกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า

อัปเดตล่าสุด 29 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 537 Reads   

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผศ.ดร.วิรัช  เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแม่นยำและเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงเทคโนโลยีทางวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางและวิศวกรรมด้านอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โอกาสนี้คณะผู้บริหารและนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุมได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ  ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ  ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง หน่วยงานสังกัด วว.  ในวันที่  29  สิงหาคม  2561  ณ ห้องประชุม  กวท. อาคารวิจัยและพัฒนา 1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
         

นายสายันต์   ตันพานิช กล่าวว่า  ความร่วมมือวิชาการบูรณาการวิจัยและพัฒนาระหว่าง วว. และมหาวิทยาลัยศรีปทุมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามทิศทางและการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งหวังกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนโยบายนวัตกรรม และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยผ่านกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยมีแนวทางการพัฒนา คือ เร่งส่งเสริมให้เกิดสังคมนวัตกรรม และผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า โดยเสริมสร้างนวัตกรรมภาคธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมภาครัฐและภาคสังคม ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทและเป้าหมายที่สำคัญของ วว. ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามภารกิจ คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมนวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ ตลอดจนมีการพัฒนาเครือข่าย โดยการพัฒนางาน วทน. อย่างเป็นระบบ เพื่อการแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ


“...ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน  มีกรอบระยะเวลา 5 ปี  มุ่งหวังการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อรองรับการเกษตรสมัยใหม่ เช่น  การจัดการข้อมูลการจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย แบบสั่งตัด การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อ  การเจริญเติบโตของพืช การเก็บเกี่ยวและการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น  และมุ่งหวังการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น การพัฒนาด้านการสำรวจระยะไกล (Remote sensing) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์สำหรับการเกษตรกรรม รวมทั้งการพัฒนาอาคารสำหรับการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องจักรกลแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และเครื่องจักรกลแปรรูปอาหาร เป็นต้น  ร่วมทั้งมุ่งหวังการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งการให้ความร่วมมือด้านวิชาการอันเป็นการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและนักศึกษาด้านวิศวกรรม  ตลอดจนการให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ผลงานไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล…” รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ กล่าวสรุป

ผศ.ดร.วิรัช   เลิศไพฑูรย์พันธ์   รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม  กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยศรีปทุมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีความร่วมมือกับ วว. ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะระบบการขนส่งทางรางและ Smart Farming ซึ่งมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้นำองค์ความรู้ด้าน Smart Farming ไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้ประเทศเข้มแข็ง นับเป็นการแบ่งปันความรู้ทางวิชาการสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง ความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้จะทำให้งานวิจัยและพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและ Smart Farming ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมเข้มแข็งขึ้น มีการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสร้าง Value ให้กับประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และเครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกันต่อไป