ยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต มอก.-ใบรับรอง ISO ตั้งแต่ 10 ต.ค. 63 ถึง 30 เม.ย. 64 เยียวยาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระทบโควิด

ยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต มอก.-ใบรับรอง ISO ตั้งแต่ 10 ต.ค. 63 ถึง 30 เม.ย. 64 เยียวยาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระทบโควิด

อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 1,085 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  หลัง ครม. เห็นชอบมาตรการเยียวยายกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. และใบรับรองระบบงาน ISO ของสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2563 นี้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ สมอ. เสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. และค่าธรรมเนียมใบรับรองระบบงาน ISO เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 10,000 ราย รวมมูลค่ากว่า 110 ล้านบาท ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2563 นี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด 19 และการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมอ. จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการยกเว้นจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564" 

ผู้ประกอบการให้มาติดต่อขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาต มอก. ทางออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ www.tisi.go.th  ทั้งการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ผ่านระบบ e-License ที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอได้ทุกมาตรฐาน ซึ่งผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลตรวจโรงงานจะถูกส่งตรงจากห้อง LAB และหน่วยงาน Outsource ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีภาระเรื่องเอกสารดังกล่าวอีกต่อไป

นอกจากนี้ สมอ. ยังอํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด โดยสามารถชําระค่าบริการและค่าธรรมเนียมงานบริการด้านอื่นๆ ได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment สําหรับการตรวจติดตามผลผู้ได้รับใบอนุญาต มอก. เป็นการตรวจติดตามผ่านระบบ e-Surveillance เพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ สมอ. ให้มากยิ่งขึ้น ด้านการรับรองระบบงาน ISO สมอ. ได้นําระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Accreditation มาใช้ตั้งแต่การยื่นคําขอ การประสานงาน การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) และการรับรองตนเอง (Self declaration) แทนการออกไปตรวจประเมินสถานที่จริง โดยผู้ตรวจประเมินจะประสานงานการตรวจประเมินทางออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชั่นต่างๆ บนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลตามมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย