สศอ. เสนอโมเดล “SIAM” เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต

อัปเดตล่าสุด 29 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 409 Reads   

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เชิญชวนผู้ประกอบการทุกภาคส่วนประยุกต์ใช้โมเดล “สยาม” มาจาก “SIAM” (สรรสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve & Innovation, การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ Innovative Big data, การยกระดับผลิตภาพด้วย Automations and Robotic และพัฒนากำลังคน Manpower Management) เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 4.0 ยกระดับการเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 โดยผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาคือผู้ที่มีที่ยืนอยู่บนโลกที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง 

ดร.ณัฐพลฯ กล่าวต่อไปว่าได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พบบริษัทไทยมีแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อถอดบทเรียนจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ จะพบว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้โมเดล “SIAM” มีการลงทุนกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ใช้ประโยชน์จาก Big data จนไปถึงการยกระดับผลิตภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ การบริหารคน รวมไปถึงผันตนเองให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ยกตัวอย่างบริษัทสัญชาติไทยที่คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก เช่น บจก. ซีพี ออล์ มีโมเดลธุรกิจสนับสนุน SMEs ทั่วไปในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าใหม่ รวมทั้งเป็นกระบวนการทดสอบผลการพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของผู้ประกอบการว่าสิ่งใหม่ที่ผลิตสามารถเป็นที่ยอมรับและแพร่กระจายไปสู่ลูกค้าได้ในวงกว้าง บจก. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์  ทำด้านเพาเวอร์ซัพพลาย พลังงานแสงอาทิตย์ และยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญทางด้านเพาเวอร์ซัพพลายและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติด้านอุตสาหกรรม พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นการพัฒนา Supply chain ให้เติบโตไปด้วยกัน บจก. ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ ผู้ผลิตโคมไฟฟ้าซึ่งพัฒนาจากผู้ผลิต เป็นผู้ให้บริการ (Service Solution) นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการการออกแบบด้วยเครื่อง 3D Printing เพื่อลดเวลาและขั้นตอนในการออกแบบ โดยใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น Spot Welding Robot และมีศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแสงสว่าง (Lighting Innovation Center; LIC) เพื่อสร้างนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์แสงสว่างของบริษัท

ดร. ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่เป็นรายใหญ่ ๆ เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จโดยใช้ “SIAM” สำหรับกลุ่ม SMEs  ก็มีเช่นกัน โดยยกตัวอย่าง SMEs ที่ใช้เอกลักษณ์ขนมไทยแบบดั้งเดิม แต่ก็สามารถส่งต่อองค์ความรู้ขนมไทยจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ปั้น คำ หอม ได้ขยายแฟรนไชส์ไปสู่ความเป็นแบรนด์พรีเมี่ยม 


ซึ่ง SMEs อาจจะต้องพึ่งอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขอยกตัวอย่าง IBM ที่มีผลิตภัณฑ์  ในการวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าสนใจจากประวัติการซื้อ มีโซลูชันที่สามารถตรวจจับอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า รวมทั้งเก็บข้อมูลลักษณะทางกายภาพ เพื่อประเมินประสบการณ์การชมสินค้าของลูกค้าแต่ละคนในแบบเรียลไทม์ ร้านค้าสามารถนำไปปรับปรุงบริการและแผนการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นการปฏิวัติที่ใช้ข้อมูลจากลูกค้าในยุคใหม่ ซึ่งภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น 
    

ดร.ณัฐพลฯ กล่าวว่า ในโอกาสที่ สศอ. ได้จัดงาน OIE Forum ครบรอบทศวรรษในปีนี้  รวมทั้งในฐานะองค์กรกำหนดนโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย จึงขอเชิญผู้ประกอบการและประชาชนทุกท่าน ที่สนใจเข้ารับฟังรายละเอียดของ “SIAM” จากผู้เข้าร่วมเสวนาโดยบริษัทชั้นนำข้างต้น และอีกหลายบริษัท  ได้ในงานสัมมนา OIE Forum  สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่ www.oie.go.th โดยมีกิจกรรมพิเศษเฉพาะในงานครบรอบสิบปี สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถรับคำปรึกษาด้านเทคนิคจากศูนย์ Center of Robotic Excellence (CORE) โดยยังมียังมีโปรแกรมสนับสนุนสำหรับสตาร์อัพจำนวน 35 รายด้วย พร้อมทั้งรับคำปรึกษาด้านการเงินจาก SME Bank ซึ่งมีโปรแกรมสินเชื่อที่หลากหลายภายในงานดังกล่าว