รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โครงสร้างพื้นฐานคืบหน้าต่อเนื่อง 3 โครงการได้เอกชนร่วมลงทุนพร้อมเริ่มดำเนินการแล้ว
1.) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การดำเนินงานเป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัดโดยช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ ให้เอกชนดำเนินงานเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 ช่วงดอนเมือง- พญาไท จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินงานเดือนมกราคม 2565 ในส่วนงานแอร์พอร์ต เรลลิงก์ บริษัทเอกชนคู่สัญญา ได้เริ่มดำเนินการในช่วงระยะที่ 1 แล้ว คือการปรับปรุงคุณภาพบริการ และปรับปรุงความสามารถการเดินรถ
2.) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บริษัทเอกชนได้ส่งแผนแม่บทฉบับเบื้องต้นโครงการ (Preliminary Master Plan) และกองทัพเรือ ได้ส่งร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาตรการป้องกันและแก้ไข ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้แก่สกพอ.เพื่อพิจารณา โดยปัจจุบันคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการโครงการฯ เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2567
3.) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 คณะกรรมการจ้างที่ปรึกษาผู้แทนจาก สกพอ. และกนอ. ได้พิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค และขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างนำเสนออนุมัติว่าจ้างที่ปรึกษาต่อ กพอ. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป
ทั้งนี้ เหลือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 3 โครงการ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F จะลงนามสัญญากับเอกชนได้ภายใน 2563 นี้ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนรับเอกสารข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ฉบับใหม่
อีซีซี เดินหน้าการลงทุน “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน”
การลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ปัจจุบันยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าหลายโครงการ เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ กันยายน 2563) แบ่งเป็น
1. งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2561 – 2564 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 2565 – 2567 มูลค่า 16,930 ล้านบาท
2. โครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน หรือ PPP ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 2564 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท
3. ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560 – เดือนมิถุนายน 2563 รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น
ประสานกระทรวงต่างประเทศ สร้างความร่วมมือเอกอัครราชทูต เจาะลึกชวนนักลงทุนทั่วโลก
สกพอ. ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศ เพื่อชักจูงนักลงทุนผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ ที่มีกลุ่มนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยได้ดำเนินการประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยงานกระทรวงต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตกว่า 50 ท่าน พร้อมจัดส่งรายชื่อบริษัท และเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อชักชวนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเบื้องต้นได้จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เจาะลึก และจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กับเอกอัครราชทูตประจำประเทศนั้น ๆ แล้ว ได้แก่ สหราชอาณาจักร 2 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สหรัฐอเมริกา 2 บริษัท และฝรั่งเศส 2 บริษัท
ขับเคลื่อน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจ เติมและต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย
แนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี สกพอ. ได้สร้างกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ได้แก่
1.) กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์
2.) กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยานยนต์สมัยใหม่ เน้นเทคโนโลยีระบบ 5G การพัฒนา Platform บนพื้นฐาน 5G
3.) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart logistics) ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การบินและด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบจัดการเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา
ยกระดับบุคลากรการศึกษา เยาวชนเรียนดีไม่มีตกงาน มีงานทำรายได้ดี
สกพอ. ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรตรงตามความต้องการ Demand driven ภาคเอกชนร่วมจ่าย (อีอีซีโมเดล) โดยประมาณความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ระยะเวลา 5 ปี (2562 – 2566) จำนวน 475,000 อัตรา พร้อมพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะบุคลากร 200 หลักสูตรใหม่
ทั้งนี้ แผนดำเนินการ อีอีซีโมเดล ปี 2564 มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรให้ได้ 20,000 – 30,000 คน แบ่งเป็น
1) อีอีซีโมเดล Type 1 : ภาคเอกชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100% หลักสูตรอาชีวศึกษา พร้อมค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ผู้เรียนระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงรับนักศึกษาเข้าทำงาน ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 2,516 คน
2) อีอีซีโมเดล Type 2 : ภาครัฐและเอกชนสนับสนุนร่วมกัน 50 : 50 ฝึกอบรมระยะสั้น (Short Courses) เพื่อผลิตกำลังคน ปรับทักษะ (Re skill) เพิ่มทักษะ (Up skill) ในระยะเร่งด่วน และได้ทำงานทันที ซึ่งได้มีการอนุมัติหลักสูตร Short Courses แล้ว 89 หลักสูตรจาก 200 หลักสูตร ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 6,064 คน และได้รับงบประมาณเพื่อเตรียมดำเนินการเพิ่มอีก 13,350 คน
นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สกพอ. ได้ขับเคลื่อน “โครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานและยกระดับทักษะตรงกับงานในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์” ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 400,000 ล้านบาท นำหลักสูตร Short Courses เพิ่มทักษะให้บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ให้ถูกปลดจากงาน สร้างรายได้เพิ่ม 9,500 คน
สำหรับความร่วมมือพัฒนาบุคลากรกับหน่วยงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี (Excellent Center) เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้กับนักเรียนได้อย่างตรงจุด สามารถทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา เบื้องต้นมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา (ศูนย์ยานยนต์สมัยใหม่) วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ศูนย์ดิจิทัลและหุ่นยนต์) วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (ศูนย์ระบบรางและ Logistic) วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (ศูนย์ Aviation และการท่องเที่ยว) และวิทยาลัยเทคนิคระยอง (ศูนย์ Automation & Robotic) กระทรวงอุดมศึกษา ฯ ผลักดันหลักสูตรการเรียนการสอนในลักษณะร่วมผลิตระหว่าง สถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ (CWIE) กระทรวงแรงงาน เตรียมจัดมหกรรมจัดหางาน EEC Job and Skill Expo ในพื้นที่ อีอีซี เป็นต้น
2. แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในปี 2563 นี้ และจะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ตั้งแต่ปี 2567 และการพัฒนาท่าเทียบเรืออื่น ๆ ให้มีความจุประมาณ 18 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปีภายในปี 2572 ทั้งนี้ เพื่อให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการลงทุน เสริมยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เชื่อมโยงกับอีอีซี เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ลดระยะเวลาและขั้นตอนการขนส่งสินค้า อำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน และเพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถการแข่งขันที่ยั่งยืน สำหรับแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วยโครงการสำคัญ ได้แก่
1. โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสกพอ. จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปี
2. โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land bridge) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา) โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชี่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวง Motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและ
อ่าวไทย
3. โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซี ไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมง โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้ง 3 โครงการ ที่ประชุม กพอ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ) กำกับการบูรณาการโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงคมนาคม และสกพอ. ร่วมกันศึกษาโดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศและประชาชน
อ่านต่อ: