เริ่ม 1 เม.ย.นี้ กรมสรรพากร เปิดโอกาส เอสเอ็มอียื่นปรับปรุงแบบเสียภาษีย้อนหลังให้ถูกต้อง ยกเว้น เบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม

อัปเดตล่าสุด 27 มี.ค. 2562
  • Share :

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. คุณสมบัติของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1.1 เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ มีรายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ครบ 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561

1.2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562

1.3 ไม่เป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้วภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562

2. การลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิ ผู้ประกอบการที่จะใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว สามารถลงทะเบียนในระบบ “ส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ” ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562

3. สิทธิประโชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิดังกล่าว และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระหรือนำส่งภาษีอากรให้ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา สำหรับภาษีแต่ละประเภท คือ

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2559 จนถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2562
  • อากรแสตมป์ ที่ชำระเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562
  • ภาษีอากรทุกประเภทที่มีหน้าที่ต้องหักหรือนำส่งสำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562

“ผู้ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง หากไม่มายื่นขอปรับปรุงแบบรอบนี้ หลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ไป กรมจะเข้มงวดตรวจสอบ และ เอาผิดอย่างรุนแรง ทั้งนี้ รอบนี้จะเป็นรอบสุดท้ายที่กรมเปิดโอกาสให้” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า การเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว มีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรและได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรสำหรับภาษีอากรทุกประเภทตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้ครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เว้นแต่มีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับประโยชน์ คือ 1. มีบัญชีหรืองบการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
2. สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำธุรกรรมการเงินได้โดยสะดวก และ 3. ลดต้นทุนในการประกอบกิจการ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
ด้าน สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจในการปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด ตามที่พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 มีผลคับใช้แล้ว http://www.tfac.or.th/Article/Detail/102462