วว. ผนึกกำลัง ส.อ.ท. และ ไทยไอโอที ร่วมลงนาม MOU พัฒนาเอไอ ในเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพิ่มศักยภาพอุตฯเกษตรไทยให้ก้าวสู่ 4.0

อัปเดตล่าสุด 31 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 577 Reads   

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมไทยไอโอที ร่วมพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เครื่องจักรกลการเกษตร มุ่งส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ ทายาทเกษตรกร  ระบุเป้าหมายปรับปรุงพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาด  พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยทั้งระบบ โดยใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมการเกษตรในยุค 4.0 เพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรด้วยต้นทุนต่ำที่สุดให้กับเกษตรกร ลดการใช้แรงงาน เพื่อส่งผลให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
 

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการของทั้ง 3 ฝ่าย ในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ในการร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เครื่องจักรกลการเกษตรและครอบคลุมไปถึงความร่วมมือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของทั้งสามฝ่าย โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 
 
1. ร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของแต่ละฝ่าย ในการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และปัญญาประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ และจัดให้มีเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร 
 
2. ร่วมมือกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเครื่องจักรการเกษตร และเทคโนโลยีด้านการเกษตร ให้เกษตรกรนำไปใช้สร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยร่วมมือกันส่งเสริมให้เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ ทายาทเกษตรกร และผู้มีความประสงค์สืบทอดอาชีพเกษตรกรรม นำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เครื่องจักรกลการเกษตรไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการรองรับมาตรฐานอุตสาหกรรม 

3. ร่วมมือในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร  

4. ร่วมมือในการศึกษา การจัดฝึกอบรม การจัดประชุมวิชาการ การเผยแพร่บทความทางวิชาการ หรือการจัดทำโครงการให้คำปรึกษา รวมถึงแนะแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร โดยมุ่งเน้นการนำความรู้และผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  และ 

5. ร่วมมือในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์องค์กรของทั้งสามหน่วยงานให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย 

“…วว.มีแนวทางที่จะร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาเครือข่ายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ วทน. เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ โดยในการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมเกษตร วว. มีศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน มีการพัฒนาเครื่องมือและเครื่องจักรกลการเกษตรด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรให้ก้าวสู่ Industry 4.0 ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับจัดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย…” ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุป

นายสุพันธ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร ดังนั้นการสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรให้ก้าวสู่ Industry 4.0 ด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จึงถือเป็นเรื่องที่สมควรได้รับการส่งเสริม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรไทย มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อยกระดับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร อาทิ เทคโนโลยีการสั่งงานเครื่องจักรกลเกษตรระยะไกล รถแทรกเตอร์ไร้คนขับควบคุมด้วยระบบ GPS เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคเกษตรกรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน และความทนทานของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด้วยสภาวะตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย เริ่มเข้าสู่สภาวะอิ่มตัว อีกทั้งตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น สภาอุตสาหกรรมฯ จึงพยายามเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร และเหมาะสมกับพืชชนิดต่างๆ ไม่กำหนดเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรหลัก อย่างข้าว อ้อย มันสาปะหลัง และข้าวโพด แต่ต้องรวมไปถึงพืชสวนเพื่อขยายตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย 

โดยความร่วมมือกันในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เครื่องจักรกลการเกษตรด้วยการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ตามแนวนโยบายการพัฒนาประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

นายอำพล  โชคสุนทสุทธิ์  นายกสมาคมไทยไอโอที  กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรของไทยพัฒนาไปเร็วมาก เกษตรกรยุคใหม่มีความรู้ความเข้าใจในการเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องนำเทคโนโลยีมาเติมเต็มกระบวนการผลิตภาคเกษตรกรรมให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทางสมาคมไทยไอโอทีมองเห็นทั้งปัญหาและโอกาส จึงได้เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับอีกหลายประเทศที่พัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว