วสท. จัดเวทีเทคนิคพิจารณ์ ร่าง “มาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรม” ก่อนประกาศใช้

อัปเดตล่าสุด 28 ธ.ค. 2561
  • Share :

ในยุคที่เทคโนโลยีระดับสูงกำลังเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งการทำงาน วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจ "โดรน" (Drone) หรือ "อากาศยานไร้คนขับ" นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง ด้วยฟังก์ชันและประโยชน์การใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายและสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ ธุรกิจการเกษตร, อุตสาหกรรมพลังงาน, ธุรกิจขนส่ง, ธุรกิจประกันภัย เข้ามาพลิกโฉมการทำงานในด้านต่าง ๆ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงานวิศวกรรมการสำรวจ ซึ่งในอดีตนั้น งานสำรวจมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และคนจำนวนมากทำให้มีต้นทุนที่สูง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ”โดรน” และการสร้างแบบจำลองสามมิติด้วยคอมพิวเตอร์วิชั่น (Computer Vision) ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการทำแผนที่จากโดรน (Drone Photogrammetry) ช่วยให้การทำงานสะดวกและมีความคล่องตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศแบบเดิม (Traditional Photogrammetry) อีกทั้งให้ผลลัพธ์หลายลักษณะที่มีรายละเอียดและความถูกต้องแม่นยำสูง ได้แก่ ข้อมูลแบบจำลองพื้นผิวเชิงเลข (Digital Surface Model) แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ทำจากแบบจำลองพื้นผิวเชิงเลข (True Orthophoto) และแบบจำลองสามมิติเชิงเลข (3D Texture Mesh Model) ที่สนับสนุนการทำงานทางด้านวิศวกรรมได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการนำอากาศยานไร้คนขับไปใช้ในการทำแผนที่อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเทคโนโลยีการทำแผนที่ด้วยอากาศยานไร้คนขับมีลักษณะเป็นระบบอัตโนมัติ จึงทำให้บุคคลทั่วไปนำไปใช้ในการทำแผนที่โดยขาดความรู้ความเข้าใจและไม่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ส่งผลต่อคุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายในการนำข้อมูลการสำรวจไปใช้ในงานวิศวกรรม

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย คณะอนุกรรมการร่างมาตรฐาน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา จัดเวทีเทคนิคพิจารณ์ร่าง “มาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรม” ณ ห้องประชุม วสท. โดยได้รับความสนใจจากวิศวกร นักวิทยาการ นักวิจัยและองค์กรต่าง ๆ จากหลายภาคส่วนเป็นอย่างดี เพื่อให้หน่วยงาน วิศวกรและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติงานสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรม ตั้งแต่การวางแผนการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับคุณภาพผลลัพธ์ที่ต้องการ ทั้งด้านการวางแผนการบิน การรังวัดจุดควบคุมภาพถ่ายและจุดตรวจสอบ การประมวลผลด้วยโปรแกรมเฉพาะทางสำหรับการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนการส่งมอบข้อมูลการสำรวจและการจัดทำรายงาน สำหรับผู้ใช้และผู้ผลิต 
 
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานเทคนิคพิจารณ์ครั้งนี้ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นในการจัดทำมาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรมจากหน่วยงานและประชาชน ทั้งเนื้อหามาตรฐาน การเลือกใช้เครื่องมือ และประเภทของอากาศยานไร้คนขับ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกภาพ โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักวิชาการ ตลอดจนข้อกำหนดในกระบวนการสำรวจเพื่อให้ได้มาตรฐานในการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายที่มีความถูกต้อง เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานด้านวิศวกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ใช้การสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรม 
 
ในงานเทคนิคพิจารณ์ครั้งนี้ จัดที่อาคาร วสท. นำโดยผู้เชี่ยวชาญร่วมนำเสนอ “ร่างมาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศกรรม” แก่ผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ รศ.สวัสดิ์ชัย เกรียงไกรเพชร ประธานคณะกรรมการประจำมาตรฐานฯ, คุณสมพัสตร์ สุวพิศ ประธานคณะอนุกรรมการร่างมาตรฐานฯ, รศ.วิชัย เยี่ยงวีรชน  กรรมการประจำมาตรฐานฯ และคุณณัฐสรณ์ คุปตะวาณิช อนุกรรมการและเลขานุการประจำร่างมาตรฐานฯ 
 
 
รศ.สวัสดิ์ชัย เกรียงไกรเพชร ประธานคณะกรรมการประจำมาตรฐานฯ สาขาวิศวกรรมโยธา วสท.กล่าวว่า การสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางด้านการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้มีหลากหลายระดับคุณภาพ รวมไปถึงเทคนิคการวางแผนการทำงานในแต่ละขั้นตอนล้วนมีผลต่อคุณภาพผลลัพธ์ที่ได้ โดยร่างมาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรมเล่มนี้ ประกอบด้วย 12 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.ที่มาและความสำคัญ 2.นิยามศัพท์เทคนิค 3.อากาศยานไร้คนขับสำหรับงานสำรวจด้วยภาพถ่าย 4.กล้องบันทึกภาพดิจิทัลสำหรับงานสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ 5.มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 6.หลักการประมวลภาพถ่ายทางอากาศ 7.ขั้นตอนการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ 8.การวางแผนการบินและการถ่ายภาพด้วยอากาศยานไร้คนขับ 9.จุดควบคุมภาพถ่าย 10.การประมวลผลภาพถ่าย 11.การตรวจสอบคุณภาพผลลัพธ์ 12.เอกสารและข้อมูลที่ส่งมอบ ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้นำไปใช้ในงานสำรวจเพื่อผลิตข้อมูลเชิงตำแหน่งได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงผู้ที่นำข้อมูลเชิงตำแหน่งไปใช้ในงานด้านวิศวกรรมได้มีความเข้าใจต่อกระบวนการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับอีกด้วย

หลังจากร่างมาตรฐานและข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการเทคนิคพิจารณ์แล้ว ทางคณะกรรมการร่างมาตรฐานฯจะดำเนินการรวบรวมปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายให้มีความถูกต้อง ก่อนประกาศใช้เป็นมาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรของประเทศไทยต่อไป