เก็บภาษีมอไซค์ตามCO2 สูงสุด18%ราคาพุ่งยกแผง
คลังชงปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตจักรยานยนต์ใหม่ ก๊อบปี้ภาษีรถยนต์จัดเก็บตามปริมาณปล่อย CO2 ปลุกกระแสตลาดจักรยานยนต์ "ไฮบริดและอีวี" ถกผู้ผลิตให้เวลาปรับตัว เริ่มใช้ 1 ม.ค. 63 วงในเผยอัตราภาษี 4 ขั้น เริ่มจากปล่อย CO2 ไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร ภาษี 1% เพดานสูงสุดเพิ่มเป็น 18% โครงสร้างเดิม 2.5-17% ค่ายจักรยานยนต์เชื่อมีผลกระทบราคาขยับขึ้นแน่ โหมลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มมาตรฐานเครื่องยนต์ลดปล่อยมลพิษ ยกเครื่องภาษี จยย.
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่ เป็นการจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการว่า จะเริ่มจัดเก็บภาษีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยระหว่างนี้จะเป็นช่วงเวลาให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาปรับตัว
"ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้หารือกับผู้ประกอบการ ซึ่งขอเวลาปรับตัว ดังนั้น คลังจะเสนอ ครม.ใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อประกาศใช้ล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการได้รู้ทิศทางนโยบาย และมีเวลาได้ปรับตัวราว 1 ปีครึ่ง" แหล่งข่าวกล่าว
ยันปีแรกไม่หวังรายได้เพิ่ม
แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจักรยานยนต์ตามการปล่อย CO2 จะจัดเก็บเป็นขั้นบันได ลักษณะเดียวกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่รถจักรยานยนต์จะแบ่งเป็น 4 ขั้น ให้สอดคล้องกับภาษีสรรพสามิตปัจจุบัน ที่จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ ได้แก่ เครื่องยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 150 ซีซี เสียภาษีตามมูลค่าที่ 2.5%, 150-500 ซีซี ภาษี 4%, ตั้งแต่ 500-1,000 ซีซี ภาษี 8% และ 1,000 ซีซีขึ้นไป เก็บภาษี 17%
ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้นภาครัฐยังไม่หวังในเรื่องการเก็บรายได้เพิ่ม จากปกติมีรายได้ภาษีปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่จะเน้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ผลิตมีการพัฒนารถจักรยานยนต์ให้สามารถลดการปล่อย CO2 ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดังนั้นรายได้ภาษีจากโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่จะใกล้เคียงเดิม
ขยับเพดานสูงสุด 18%
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า โครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ที่จัดเก็บตามการปล่อยมลพิษจะเป็น 4 ขั้นเหมือนเดิม เพื่อให้ภาระภาษียังคงใกล้เคียงกับของเดิม โดยขั้นต่ำสุดปล่อยก๊าซ CO2 ที่ระดับไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษี 1% ปล่อย CO2 ระหว่าง 30-90 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษี 5%, 90-130 กรัมต่อกิโลเมตร ภาษี 9% และ 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสียภาษี 18% และสำหรับรถจักรยานยนต์นำเข้าเพื่อวิจัยและพัฒนา ภาษี 0%
"กรณีรถบิ๊กไบก์ที่เป็นขนาด 500-1,000 ซีซี ปัจจุบันเสียภาษี 8% และ 1,000 ซีซีขึ้นไป เสียภาษี 17% ในอนาคตมีโอกาสเสียภาษีต่ำลงได้ หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ปล่อย CO2 ลดลงได้"
หนุน จยย. "ไฮบริด-ไฟฟ้า"
แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ที่จะเสนอรอบนี้ จะเป็นการส่งเสริมตลาดรถจักรยานยนต์ไฮบริดด้วย เพราะจะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ลงได้
แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นรถจักรยานยนต์ประเภทไฮบริดแท้ ไม่ใช่ไฮบริดเทียม หรือที่เรียกว่าไมลด์ไฮบริด หรือไมโครไฮบริดที่จะไม่มีผลในการลดปล่อย CO2 ส่วนจักรยานยนต์ไฟฟ้า คือใช้ไฟฟ้า 100% จะเสนอให้จัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่ารถจักรยานยนต์ประเภทอื่น
"รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันที่นำเข้ามาจะเป็นแบรนด์จีน ซึ่งได้รับยกเว้นอากรขาเข้า แต่ไม่สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ เนื่องจากความเร็วสูงสุดยังไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตไม่ได้อิงกับการจดทะเบียนขนส่ง" แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมา 2 ค่ายรถจักรยานยนต์ ทั้ง เอ.พี.ฮอนด้า และยามาฮ่า ได้นำร่องส่งรถจักรยานยนต์ไฮบริดออกสู่ตลาดในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ ฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ และยามาฮ่า แกรนด์ฟีลาโน ไฮบริด และวางแผนที่จะแนะนำรถจักรยานยนต์ประเภทอีวี ออกสู่ตลาดในสเต็ปต่อไป ทั้งนี้ คงต้องรอดูความชัดเจนเรื่องระบบสาธารณูปโภคที่รองรับ และอัตราภาษีใหม่ด้วย
อธิบดีเชื่อไม่เพิ่มภาระ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีจักรยานยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของการจัดเก็บภาษีอีกเล็กน้อย ในเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้คือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใครปล่อยก๊าซ CO2 มากก็เสียภาษีมาก ซึ่งจะสรุปเสนอที่ประชุม ครม.ได้ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับอัตราการจัดเก็บนั้น ผู้เสียภาษีสามารถคำนวณได้เลยว่า ปัจจุบันเสียอยู่เท่าใด ก็จะเสียอยู่ประมาณนั้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น
"ถามว่าจะมีภาระเพิ่มขึ้นไหม ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้น เพราะ 80-90% รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายกันอยู่เป็นรถขนาดเล็ก เราพยายามเอาฐานเดิมมาคำนวณว่า ถ้าคิดตามการปล่อย CO2 แล้วจะเป็นภาษีอัตราเท่าไหร่ โดยเราพยายามให้เสียภาษีเท่าเดิมมากที่สุด" นายกฤษฎากล่าว
ค่ายรถยันภาษีใหม่ดันราคาพุ่ง
นางสาวิตรี แก้วพวงงาม กรรมการบริหาร ส่วนงานบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ โดยคำนวณจากอัตราปล่อยค่าไอเสีย หรือ CO2 ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการบังคับให้ค่ายจักรยานยนต์พัฒนาด้านเทคโนโลยี สำหรับกลุ่มรถที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ คือ รถในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฮบริด ส่วนรุ่นอื่น ๆ คาดว่าจะทำให้ราคาสูงขึ้น
เช่นเดียวกับ นายพงษ์ธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถมอเตอร์ไซค์ จะกระทบต่อราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ แต่เชื่อว่าราคาที่ปรับสูงขึ้นผู้บริโภครับได้ และเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวรัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบและต่างประเทศก็ใช้แนวทางนี้
ไทรอัมพ์ถกบริษัทแม่
ขณะที่กลุ่มบิ๊กไบก์ นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไทรอัมพ์ยังไม่ได้รับการยืนยันจากภาครัฐว่าจะมีการเปลี่ยนวิธีคิดภาษี ทุกอย่างรอดูความชัดเจน ปัจจุบันไทรอัมพ์มีรถจักรยานยนต์ 4 เครื่องยนต์ ได้แก่ เครื่องยนต์ขนาด 765 ซีซี 3 สูบ, 800 ซีซี, 900 ซีซี และ 1,200 ซีซี ทำตลาดอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 15-16 รุ่น
"คงต้องประเมินสถานการณ์และวางแผนร่วมกับบริษัทแม่ เพราะมอเตอร์ไซค์ไทรอัมพ์ทุกคัน เป็นมาตรฐานยูโร 4 ไปแล้ว ขณะที่มาตรฐานบังคับใช้ของประเทศไทยสำหรับรถจักรยานยนต์ ยังอยู่ที่ยูโร 3"
บีเอ็มดับเบิลยูขานรับ
ด้านนายมาร์คุส กลาเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบีเอ็มดับเบิลยู
กรุ๊ป ในระดับสากล โดยที่กรมสรรพสามิตได้ให้เวลากับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เพื่อวางแผนล่วงหน้า
"มอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู ล้วนเป็นไปตามมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งปล่อย CO2 ระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มรถในเซ็กเมนต์เดียวกัน สอดคล้องกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่"
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ของตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2561 ว่า มียอดขายทั้งสิ้น 935,025 คัน ลดลง 2% เป็นผลมาจากปัจจัยลบของราคาพืชผลเกษตร ทั้งข้าว, อ้อย, ยาง แต่ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเวลาที่เหลือสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น และเชื่อว่ายอดขายทั้งปีจะลดลงเล็กน้อย จากที่ผู้ประกอบการประเมินไว้ 1.85 ล้านคัน เหลือเพียง 1.8 ล้านคัน