รองนายกฯ ‘สมคิด’ ชู EEC ต้นแบบการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค

อัปเดตล่าสุด 18 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 644 Reads   

รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายผู้บริหารส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เน้นย้ำร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศก้าวผ่านวิกฤตโลก พร้อมชูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบสู่การขยายการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ ยืนยันแม้เป็นรัฐบาลผสมแต่จะไม่มีปัญหาการทำงานร่วมกัน ด้านนายกรัฐมนตรี ย้ำประเทศต้องเดินหน้าให้ได้ ย้ำทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับการแข่งขัน และเตรียมพัฒนาคนสู่อนาคตเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะต้องมุ่งสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทุกกระทรวงจึงต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อเนื่องและต่อยอดโครงการสำคัญจากรัฐบาลที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ยืนยันรัฐบาลพร้อมเดินหน้าผลักดันการลงทุนตามนโยบายรัฐและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยและต่างชาติต่อการขยายลงทุนในประเทศ โดยวันที่ 21 สิงหาคม 2562 นี้ เตรียมเสนอ ครม.เศรษฐกิจ พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือครอบคลุมทุกภาค ทั้งภาคการเกษตร, ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่รายย่อยในการฟื้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 

สำหรับแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรื่องแรกคือการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มจากการชี้แจงนโยบายกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยย้ำชัดว่ารัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, รถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสากกรรมที่เป็นเป้าหมาย เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC จากนั้นจะเป็นเรื่องการลงทุนด้านดิจิทัล โดยได้เน้นย้ำกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เร่งดำเนินการเรื่อง 5G ให้เกิดขึ้นภายในปี 2563

ส่วนระยะที่ 2 เร่งเดินหน้าพัฒนาบุคคลากรให้ทันกับความต้องการของเอกชนที่ขยายการลงทุนในกลุ่มเป้าหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน มหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกัน เมื่อเขต EEC พัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว รัฐบาลจะใช้เป็นต้นแบบนำไปพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในภาคอื่น ๆ เช่นเดียวกับ EEC และระยะสุดท้าย คือสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศขนาดใหญ่ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จะประสานความร่วมมืออย่างเท่าเทียม ไม่มีเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันจะต้องยกระดับการพัฒนาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) พร้อมกับเร่งส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล รองรับระบบ 5G เพื่อใช้พัฒนาในทุกภาคส่วน ทั้งหุ่นยนต์ การค้าออนไลน์ การนำกองทุนเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันนับหมื่นล้านบาท มาช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ นายสมคิด กล่าวว่า จากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกนั้น รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังของประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน

"ประธานหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ กังวลเรื่องการส่งออก เพราะหากส่งออกแล้วขาดทุนเขาก็คงไม่มาลงทุนในไทย จึงได้ชี้แจงว่าไทยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะการเงินการคลังต้องไปด้วยกัน โดยจะตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นในเร็ว ๆ นี้แน่นอน หลังจากที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้ว"

สนับสนุนบทความโดย : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  www.eeco.or.th