ใจป้ำลดภาษีมนุษย์เงินเดือน ครม. ใหม่ทุ่มแสนล. อัดฉีดเศรษฐกิจ

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ค. 2562
  • Share :

นโยบายรัฐบาลใหม่ลงตัว ชง “บิ๊กตู่” เคาะก่อนแถลงต่อสภา เผย 1 ปีแรกเน้นแก้ปัญหาปากท้อง-ลดเหลื่อมล้ำ ดันราคาสินค้าเกษตร ลูกจ้างเฮขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกชุดนโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดาร้อยละ 10 เว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปีแรก เด็กจบใหม่ไม่ต้องเสียภาษี 5 ปี เดินหน้าแก้ปมเศรษฐกิจอัดฉีดลอตแรกแสนล้าน

หลังมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะแกนนำรัฐบาลกับพรรคร่วม อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), ภูมิใจไทย (ภท.), ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), ชาติพัฒนา (ชพน.), รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ฯลฯ ได้ร่วมกันยกร่างนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภา วันที่ 24 กรกฎาคม ล่าสุดคณะทำงานยกร่างนโยบายซึ่งประกอบด้วยแกนนำจากทุกพรรค ดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์ 100% และจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้


ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค เพื่อร่างนโยบายรัฐบาลและเสนอต่อสภาภายใน 15 วัน ว่าเป็นการนำนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามาบรรจุลงในนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 13 กรกฎาคม และนำส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไปภายใน 1-2 วัน

โดยร่างนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาจะให้ความสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ปีแรกนโยบายจะครอบคลุมหลายมิติ เช่น การแก้ไขปัญหาปากท้อง-ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนรอคอยอยู่ กับส่วนที่ 2 นโยบายระยะกลางและระยะยาว 4 ปี จะตอบสนองการสร้างความยั่งยืนของประเทศในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ส่วนนโยบายด้านการเกษตร แม้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคจะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของมาตรการและการกำหนดราคาสินค้าเกษตร “แต่ทุกพรรคการเมืองมีเป้าหมายเดียวกันและตรงกัน คือ การยกระดับราคาสินค้าเกษตร ส่วนรายละเอียดจะต้องพิจารณาแต่ละประเภทของสินค้าเกษตรนั้น ๆ และจะมีการนำมาตรการของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้มาปรับใช้ เพื่อออกมาเป็นมาตรการของรัฐบาลต่อไป”

ด้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ทิศทางของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคการเมืองชัดเจนที่จะปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยจะมีหารือเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป “ขอให้สบายใจได้ เพราะทิศทางของนโยบายต้องสอดคล้องกับงบประมาณด้วย แต่ยังไม่สามารถตอบในตอนนี้ได้ว่า ต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ แต่จะทำให้อยู่ในกรอบงบประมาณที่มีอยู่” นายสนธิรัตน์กล่าว

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะทำงานร่างนโยบายรัฐบาล กล่าวว่า จะนำนโยบายเกี่ยวกับภาษีของพรรค พปชร. อาทิ นโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดาทุกระดับขั้นร้อยละ 10, การยกเว้นภาษีในช่วง 2 ปีแรกที่เริ่มประกอบกิจการสำหรับพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ และการยกเว้นภาษี 5 ปีแรก นับจากวันเริ่มทำงานของผู้เพิ่งจบการศึกษาใหม่มาบรรจุลงในร่างนโยบายรัฐบาลใหม่ พร้อมทั้งแผนการปฏิรูปฐานภาษีทั้งระบบ เพื่อกำหนดเป็นกรอบกว้าง ๆ เป็นแผนงานสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ดำเนินการต่อไป “ถือเป็นการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี และยังเป็นการขยายฐานภาษีอีกด้วย ส่วนการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังคนใหม่”

ชงแพ็กเกจกระตุ้นแสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอุตตม สาวนายน ว่าที่ รมว.คลัง ได้เรียกทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่แล้ว โดยระยะสั้นจะมีการออกแพ็กเกจมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินใกล้ๆ 100,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทันที หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้งบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการดำเนินการ ส่วนมาตรการอื่นๆ ในระยะแรกจะเน้นสานต่อมาตรการเดิมไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขับเคลื่อนนโยบายอีเพย์เมนต์

“ในส่วนของบัตรสวัสดิการจะมีการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ เน้นพิจารณาคุณสมบัติรายครัวเรือน ซึ่งมาตรการส่วนนี้สามารถทำได้ เพราะทำผ่านกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่สามารถขอรับการจัดสรรงบฯกลางได้ โดยนโยบายหาเสียงต่าง ๆ ที่จะเป็นการให้สวัสดิการคนจนก็คงพยายามทำผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก” แหล่งข่าวกล่าว

นโยบายด้านภาษีที่ทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้หาเสียงไว้นั้น ในส่วนที่เป็นการยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปีนั้น “ไม่น่าจะมีปัญหา สามารถดำเนินการได้แน่นอน” เนื่องจากปัจจุบันการค้าขายออนไลน์ก็แทบจะไม่อยู่ในฐานภาษีหรือเก็บภาษีไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นก็เพียงแค่ชะลอการไปไล่เก็บภาษีเท่านั้นก็ถือว่า “ทำได้แล้ว” ส่วนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% นั้น อาจจะต้องทบทวน เพราะกระทบกับรายได้ภาษีที่จะหายไปถึง 50,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งหากจะดำเนินการก็ต้องมีการเพิ่มภาษีประเภทอื่นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป

กกร.ยื่นสมุดปกขาว

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะเข้าพบรัฐมนตรี “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ทันที หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พร้อมกันนี้ กกร.ก็จะยื่น “สมุดปกขาว” ผลักดันการดำเนินการในนโยบายสำคัญ 4-5 เรื่องหลัก ที่จะต้องเร่งดำเนินการเร่งด่วนให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ 2) ครม.ต้องเดินหน้าต่อโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

3) การผลักดันการส่งออกในช่วงที่มีวิกฤตสงครามการค้าและผลกระทบจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า โดยจะมีการผลักดันให้สกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินหลักในการค้าขายในภูมิภาค เริ่มจากกลุ่ม CLMV ก่อน

4) นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐ-สหภาพยุโรป ความตกลง CPTPP เพื่อช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 5) นโยบายการผลักดันการท่องเที่ยว

“หอการค้าจะพบกับรัฐมนตรี 7 กระทรวง พาณิชย์ เกษตรฯ อุตสาหกรรม คมนาคม ดีอี มหาดไทย และต่างประเทศ เพื่อผลักดันวาระเร่งด่วน ส่วนเรื่องค่าบาทแข็ง หอการค้าจะนำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางออกร่วมกัน”

สอดคล้องกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่จะนำคณะเข้าพบรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วน โดยวาระแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน โดยเฉพาะการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเกี่ยวโยงถึงเรื่องปากท้องและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “การทำงานโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มาจากรัฐบาลผสมหลายพรรค คงจะมีการบูรณาการการทำงานกัน เราจะประเมินกันอีกครั้งหลังรัฐบาลทำงานไปแล้ว 6 เดือน”

ต่อเนื่องลงทุนขนาดใหญ่

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกที่ปรับตัวลดลงในช่วง 5 เดือนแรก ส่งผลให้ กกร.ปรับลดเป้าหมายภาพรวมการส่งออก ปี 2562 จะติดลบ 1% นั้น มีโอกาสจะส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงภาคการผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งในประเด็นนี้ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การวางตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจากพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้การดำเนินนโยบายบริหารจัดการสินค้าเกษตรราบรื่น โดยเชื่อว่าจะนำวิธีการ “ประกันราคาสินค้าเกษตร” ที่เคยใช้ในอดีต กลับมาใช้ตามที่ได้หาเสียงไว้

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงคมนาคมได้รัฐมนตรีใหม่ 3 คน จาก 3 พรรคการเมือง “ผมคาดหวังว่าโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่รัฐมนตรีคนเก่าพูดไว้ว่าจะมีแผนงานลงทุนอะไรบ้าง เช่น รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ถนนต่าง ๆ มีมูลค่านับล้านล้านบาทนั้น จะได้รับการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เข้ามาแล้วจะมาเบรกให้โครงการหยุดชะงัก และขอให้ทำงานกันเป็นแบบทีมเวิร์กด้วย”

นอกจากนี้ สมาคมอยากขอให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขระเบียบจัดซื้อจัดจ้างให้มีความถูกต้อง และทำเป็นมาตรฐานแนบใน พ.ร.บ.ให้ชัดเจน กรณีที่โครงการประสบปัญหาอุทกภัยจะต้องได้รับการเยียวยาจากรัฐ เช่น ขยายเวลาให้ เนื่องจากมีโครงการในปี 2560 ยังติดปัญหาเรื่องนี้อยู่ร่วม 200 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 40,000 ล้านบาท

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ในการบริหารงานโครงการต่าง ๆ และขอให้ช่วงเร่งรัดโครงการต่าง ๆ ให้ออกมาตามกำหนด และฝากดูแลอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ป้องกันไม่ให้รับเหมาต่างประเทศเข้ามารับงานในประเทศแข่งกับรับเหมาไทย

อุตฯ แก้ปัญหาอ้อย-น้ำตาล

สำหรับ รมต.คนใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ยังมีงานสำคัญที่ยังเป็นปัญหาอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยังไม่สามารถประกาศออกมา หลังค้างการพิจารณามา 2 ปี โดยโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยกังวลถึงคำสั่งลอยตัวน้ำตาลในประเทศตาม ม.44 จะหมดอายุลงในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ หาก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังไม่สามารถบังคับใช้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศก็จะกลับไประบบแบ่งปันผลผลิต 70/30 แบบเก่าอีก

ค่ายรถยนต์ห่วงนโยบายพลังงาน

สำหรับนักธุรกิจในกลุ่มยานยนต์ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ทิศทางของนโยบายเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจัดทำไว้นั้น “น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ” ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างภาษี หรือประเภทรถยนต์ที่รัฐบาลสนับสนุน ทั้งไฮบริด-ปลั๊ก-อิน ไฮบริด-EV รวมถึงนโยบายด้านพลังงาน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้สานต่อนโยบายด้านพลังงาน ที่ต้องคำนึงอย่างมากถึงความต่อเนื่องและการใช้งานจริง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกไปจำหน่ายประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการผลิตรถยนต์ให้สอดคล้องกับสเป็กของพลังงานในแต่ละพื้นที่

สอดคล้องกับผู้ประกอบการด้านพลังงาน ส่วนใหญ่กล่าวไปในทิศทางเดียวกันถึงนโยบายพลังงานของ รมว.พลังงานคนใหม่ว่า ผู้ประกอบการต้องการ “ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบาย” ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ในข้อที่ว่า จะไม่มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ (โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน) ใน 10 ปีข้างหน้าของแผน, การส่งเสริมพลังงานทดแทน B20 และการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21

ส่งสมุดรายงานท่องเที่ยว

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คนใหม่ว่า จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ทาง สทท.ได้เตรียมนัดประชุมหารือร่วมกับสมาคมท่องเที่ยวทุกภาคส่วน (แอตต้า-TTAA-สนท.-สปข.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดทำ “สมุดรายงานอุตฯท่องเที่ยว” เสนอปัญหา ข้อเสนอแนะ แผนการตลาด ต่อท่าน รมต. โดยหลัก ๆ จะประกอบด้วย


1) รายงานสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มตลอดทั้งปี 2) การดำเนินงานด้านมาตรการความปลอดภัย และ 3) แผนการตลาดเพื่อส่งเสริมการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ ขอต่อมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง, แนวทางการยกเลิกภาษีให้บริษัทนำเที่ยว หรือแนวทางช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ, การผลักดันเรื่องอาเซียนวีซ่า และปัญหาค่าบาทแข็ง