สนช. เปิดเวทีเสวนา ร่าง พรบ.กำจัดซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 371 Reads   

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 พลเอก สิงห์ศึก   สิงห์ไพร ประธานคณะอนุกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ   เป็นประธานในการเปิดการเสวนารับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ “การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้  ณ ห้องเรียนวิทยาลัยการทัพบก ชั้น 2  อาคารวิทยาลัยการทัพบก กรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนเทอดดำริ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ จำนวนมากเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้
 
พลเอก สิงห์ศึก  สิงห์ไพร  กล่าวว่า “การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่สำคัญ และทุก ๆ ฝ่าย ควรมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ด้วยหลักการและเหตุผล”
 
“ในปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  แต่สิ่งสำคัญคือการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยรวม คณะอนุกรรมาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมีการศึกษาข้อกำหนด พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างละเอียด และหารือกัน ได้ความว่า - ควรจะเสนอให้วาระการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกจัดอยู่ในวาระการกำจัดขยะแห่งชาติ บัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อเร่งแก่ไข ดูแล ไม่ให้เกิดเป็นปัญหาต่อสังคมในภายภาคหน้า” นายสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวเสริม
 
ความจำเป็นในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
 
ปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดนั้นมีอัตราการใช้อย่างมหาศาล  ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบที่เป็นสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด  หากรั่วไหลจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เมื่อผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ดังกล่าวไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป การกำจัด-คัดแยก-ถอด ชิ้นส่วนดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการจัดเก็บ รวบรวม และกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรมีกฎหมายที่จะกำหนดกลไกในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ โดยอาศัยความ รับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายและผู้นำเข้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้สารอันตราย และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำกลับไปใช้ใหม่ โดยส่งเสริมหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนควบคู่กับหลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต

สาระสำคัญของข้อเสนอแก้ไขที่ปรับแก้โดยคณะทำงานฯ

1. กลไกการกำกับดูแล

1.1 ควรมีคณะกรรมการระดับประเทศ (คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุม) เพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายในการจัดการซาก ผลิตภัณฑ์ควบคุมของทั้งประเทศให้เป็นแนวทางเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำกล่าว คือ ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การทิ้ง การเก็บรวบรวม การเคลื่อนย้าย การแยก การหาประโยชน์ และการกำจัด (หมวด ๑ มาตรา ๖/๑ - ๖/๔)

1.2 ควรมีคณะกรรมการระดับจังหวัด (คณะกรรมการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุมประจำจังหวัด) เพื่อเป็นผู้นำนโยบายระดับประเทศ มากำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัดและทำหน้าที่กำกับดูแลท้องถิ่นให้มีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุม (หมวด ๑ มาตรา ๖/๕ - ๖/๖)

1.3 ควรกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในระดับปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนงานของจังหวัดนั้น ๆ และกอบ ประสานงานกับผู้ประกอบการต่าง ๆ และประชาชน (หมวด ๑/๑ มาตรา ๖/๕ (๓), ๕/๑, ๕/๔ และ ๑๓/๓)
 

2. กระบวนการขับเคลื่อน

2.1 ควรมีผู้ทำหน้าที่รับคืนซากผลิตภัณฑ์ควบคุม โดยแยกเป็น

ก. ซากผลิตภัณฑ์ควบคุมที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ควรกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมซากผลิตภัณฑ์ควบคุมโดยการรับคืนและรวบรวม และเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล ก่อนการกระจายซากผลิตภัณฑ์ควบคุมไปยังโรงงานเพื่อดำเนินการแยกซากผลิตภัณฑ์ควบคุมและจัดการในขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป (หมวด ๑/๑ ส่วนที่ ๑)
ข. ซากผลิตภัณฑ์ควบคุมที่เกิดขึ้นหลังพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ควรกำหนดให้ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ควบคุมเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมซากผลิตภัณฑ์ควบคุมโดยการรับคืนและรวบรวมและเป็นศูนย์ รวบรวมข้อมูลก่อนการกระจายซากผลิตภัณฑ์ควบคุมไปยังโรงงานเพื่อดำเนินการแยกซากผลิตภัณฑ์ควบคุมและจัดการในขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป (หมวด ๑/๑ ส่วนที่ ๒)

๒.๒

ควรกำหนดให้มีการรับรองสถานะขององค์กรความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุมให้เกิดผลอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในรูปแบบ สมาคม มูลนิธิ หรือรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการประสานงานกับผู้ประกอบการต่าง ๆ และเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวบรวม ขนส่ง การแยก และการนำซากผลิตภัณฑ์ควบคุมไปจัดการในขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณของรัฐบาล (มาตรา ๖/๒(๑) และ (๔), ๖/๔, ๑๓/๑ และ ๑๓/๒)