คลังรื้อภาษีรถยนต์รอบใหม่ ตั้งทีมร่วมเอกชนทบทวน CO2 ดัน “EV” โปรดักต์แชมเปี้ยน

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 361 Reads   

“สมคิด” ลุยยกระดับอุตฯยานยนต์เต็มสูบ สั่งสรรพสามิตปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ดันโปรดักต์แชมเปี้ยนปิกอัพ-อีโคคาร์และรถอีวี รับไทยแลนด์ 4.0 ตั้งทีมทบทวนเกณฑ์ปล่อย CO2ให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ เอกชนเฮพร้อมลงทุนปลื้มคนไทยได้ใช้รถดีราคาสมเหตุสมผล

แหล่งข่าวกรมสรรพสามิตเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพสามิตได้ทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงค่ายรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อเข้าร่วมหารือ เพื่อกำหนดทิศทางการปรับปรุงหรือปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบ ให้สอดรับกับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ต้องการสนับสนุนนิวเอสเคิร์ฟ หรือ 5 อุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รวมอยู่ด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แต่ที่ผ่านมาโครงสร้างภาษีรถยนต์ยังก้าวตามไม่ทัน มีหลาย ๆ อย่างเป็นอุปสรรค กรมสรรพสามิตต้องการให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรม โปร่งใส เป็นสากล และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทย ตั้งแต่รถปิกอัพ, อีโคคาร์ และรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะมาเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวต่อไป

ปฏิรูปภาษีรถยนต์รอบใหม่

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้จัดประชุมคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์อีวี) ในอนาคต มีเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ต่าง ๆ และผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม เพื่อหารือถึงโครงสร้างภาษีรถยนต์ในอนาคต ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

“ผลศึกษาภาษีสรรพสามิตทุกชนิดสินค้า จะสรุปออกมาในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.-ธ.ค. 2561) นี้ จากนั้นจะต้องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่าเห็นด้วยกับแนวทางของกรมหรือไม่ หากเห็นด้วยจะเสนอรัฐบาลต่อไป” นายพชรกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมนัดแรกดังกล่าวเพื่อเป็นการศึกษาความพร้อมว่า ในอนาคตจะเดินหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศไทยอย่างไร โดยจะเป็นการเตรียมพร้อมไว้รองรับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เมื่อโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ปัจจุบันบังคับใช้ครบ 5 ปี ซึ่งตามกำหนดจะครบในปีงบประมาณ 2564 อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับโครงสร้างภาษีจะต้องได้ข้อสรุปชัดเจนก่อนถึงเวลานั้น

“การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์รอบนี้จะมุ่งไปสู่การส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวีมากขึ้น เพราะเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่ออนาคตของประเทศด้วย จากปัจจุบันที่โครงสร้างภาษีรถยนต์จะให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริด โดยการประชุมนัดแรกเป็นการให้ผู้ประกอบการได้แสดงความคิดเห็น จากนั้นทางกรมจะรวบรวมมาประมวลความคิดเห็นเอกชนแล้วสรุปออกมาอีกที แต่หลังจากนี้ยังต้องคุยกันอีกสัก 1-2 รอบ” แหล่งข่าวกล่าว

ตั้งคณะทำงานรับรถอีวีบูม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้มีคำสั่งที่ 668/2561 แต่งตั้งคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยอ้างหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การกำหนดนโยบายทางภาษีสอดคล้องกับแนวโน้มของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคตที่สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีจึงออกคำสั่งให้มีคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ประกอบด้วย อธิบดีเป็นประธาน และมีคณะทำงาน ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย, ค่ายรถยนต์19 ราย เป็นต้น

“คณะทำงานนี้จะประชุมกันเดือนละครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนการประชุมครั้งหน้าจะมีขึ้นต้นเดือนธันวาคมนี้”

สั่งทบทวนภาษี CO2 เดิม

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตยังกล่าวอีกว่า คณะทำงานนอกจากวางกรอบกำหนดโครงสร้างภาษีรถยนต์แล้ว ยังให้อำนาจศึกษา ทบทวน และเสนอแนะหลักเกณฑ์ภาษีสรรพสามิตเดิมที่พิจารณาจากการปล่อย CO2 โดยปรับปรุงให้สอดรับกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

ทุ่มยกระดับโปรดักต์แชมเปี้ยน

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลเป็นห่วงโปรดักต์แชมเปี้ยนที่มีอยู่เดิม เกรงว่าหากไม่ได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจังจะเรียวลงเรื่อย ๆ จึงให้คณะกรรมการชุดนี้เร่งกำหนดมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของโปรดักต์แชมเปี้ยนทุกตัว ตั้งแต่ปิกอัพ, อนุพันธ์ของรถปิกอัพ, รถยนต์ขนาดเล็กที่มีสมรรถนะสูง มีความปลอดภัย รวมถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแนวทางการส่งเสริม โดยเฉพาะองค์ประกอบหลัก เช่น แบตเตอรี่, มอเตอร์ไฟฟ้า และระบบควบคุมการขับขี่

“อีกเรื่องที่ประธานคณะทำงานเน้นมาก คือ กำหนดมาตรการบริหารจัดการแบตเตอรี่ ทั้งลิเทียม-ไอออน และนิกเกิลเมทัล-ไฮไดรด์ ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี”

เอกชนเฮ คนไทยได้ใช้รถถูกลง

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้เข้าร่วมหารือ ซึ่งยังไม่มีรายละเอียด นัดแรกเป็นเพียงแค่ตั้งคณะทำงาน ส่วนแนวทางการปฏิรูปคงต้องรออีกระยะ
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันค่ายรถส่วนใหญ่ลงทุนกับรถยนต์ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างมาก แต่การส่งเสริมยังไม่มีความชัดเจน ส่วนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเดิมก็ใช้มาพักใหญ่ ควรมีการปรับปรุงให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน เชื่อว่าคณะทำงานชุดนี้น่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น และทำให้ประชาชนมีทางเลือกได้ใช้รถยนต์ที่ดี ราคาสมเหตุสมผล

แหล่งข่าวจากมิตซูบิชิมอเตอร์, เจนเนอรัล มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ กล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้ค่อนข้างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะตัวอธิบดี ผลสรุปที่ได้น่าจะช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาซ้ำซ้อน แต่ยังมีผู้ประกอบการบางกลุ่มมองว่า ที่รัฐบาลเร่งผลักดันเป็นเพราะประเทศไทยใกล้จะมีเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตยังมีแนวคิดที่จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย ยกตัวอย่าง เช่น รถที่มีระบบความปลอดภัย เช่น ติดถุงลมนิรภัย ระบบเบรกซึ่งเป็น

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ยางที่ได้มาตรฐาน จะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ารถที่ไม่มีระบบดังกล่าว หรือมีแต่มาตรฐานต่ำกว่า เป็นต้น ซึ่งได้มีการหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ไปบ้างแล้ว

นอกจากรถยนต์แล้ว กรณีรถจักรยานยนต์ก็จะใช้แนวทางเดียวกันนี้ได้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เช่นเดียวกับรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาโครงสร้างภาษี โดยนำหลักความปลอดภัยเข้ามาพิจารณาเป็นองค์ประกอบด้วย