สศอ. จัดประชุมวิชาการครบรอบ 10 ปี “OIE FORUM 2018 GEAR UP SIAM INDUSTRY”
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต” ในงานประชุมวิชาการ สศอ. (OIE Forum) ประจำปี 2561 ภายใต้ชื่อ “OIE FORUM 2018 GEAR UP SIAM INDUSTRY เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย ทะยานไกลสู่อนาคต” โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในบริบทของประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ การยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทโลก เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยในโอกาสนี้ที่ สศอ. จัดงานประชุมวิชาการประจำปีในหัวข้อ “GEAR UP SIAM INDUSTRY เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย ทะยานไกลสู่อนาคต” จึงนับว่าเป็นการตอกย้ำในการผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเร่งเครื่องพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในด้านต่าง ๆ ภายใต้โมเดล SIAM เพื่อให้สามารถแข่งขันและก้าวไกลสู่อนาคตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสที่ สศอ. ได้จัดงานประชุมวิชาการใหญ่ประจำปี หรือ OIE Forum ครบรอบหนึ่งทศวรรษในปีนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการระดมความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ภายใต้การเสวนาในหัวข้อ “เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย ทะยานไกลสู่อนาคต” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้บริหาร Payments and Disruptive Technology Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี มาร่วมเสวนาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการทำงานที่ทรงคุณค่าเพื่อให้ผู้เข้ารับฟังการเสวนาได้นำไปปรับใช้เป็นแนวทาง หรือต่อยอดความคิดสำหรับใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานหรือดำเนินธุรกิจต่อไป
สำหรับในช่วงบ่ายได้กำหนดจัดให้มีการเสวนากลุ่มย่อยจำนวน 4 ห้องตามหัวข้อ “SIAM” ได้แก่
1. ห้อง S-Curve & Innovation : จัดทัพนวัตกรรมอาหารยุคใหม่สู่อนาคต โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญร่วมแสดงทัศนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่เป้าหมายอาหารเพื่ออนาคต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดทั้งสายการผลิต คือ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
2. ห้อง Innovative Big data - Business Challenge : Big Data ท้าให้ลอง ห้องนี้เสวนาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ ความคิดเห็นและประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี Big Data, AI Machine Learning และ Digitalization ในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว
3. ห้อง Automated Industries : ปรับองศาการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ ความคิดเห็นและประสบการณ์ในการปรับเปลี่ยนการใช้กระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐมาร่วมแลกเปลี่ยนมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ
4. ห้อง Manpower Management : การปฏิรูปกำลังคน ทางรอดที่ต้องเลือก จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ ความคิดเห็นและประสบการณ์ในประเด็นการบริหารจัดการกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมกับกระแสพลวัตร
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน สำหรับงาน “OIE FORUM 2018 GEAR UP SIAM INDUSTRY เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย ทะยานไกลสู่อนาคต” นอกเหนือการเสวนาซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มาเข้าร่วมงาน ได้แก่ บริษัท เดลต้าอิเลคโทรนิตส์ ประเทศไทย จำกัด มหาชน, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กลุ่มธุรกิจ ซีพี ออลล์, IBM, MTI Solution co.,Ltd, Seagate Research Group, Central Technology, ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน, บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ จำกัด, บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด มหาชน ฯลฯ) แล้วในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เพื่อการเร่งเครื่องอุตสาหกรรมตามโมเดล SIAM จาหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเงินจาก SME Bank และด้านเทคนิคจากศูนย์ Center of Robotic Excellence อีกด้วย