สมอ. แก้ไข พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 962 Reads   

สมอ. แก้ไข พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เน้นปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ลดขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพิ่มโทษขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว โดย พ.ร.บ. ฉบับใหม่เพิ่มบทบัญญัติ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทำให้สามารถควบคุมการตรวจสอบการทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) ต้องแสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ สมอ. ก่อนทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น เว้นแต่เป็นการทำเพื่อการวิจัยและพัฒนา การทำเพื่อทดลองกระบวนการผลิต หรือการทำเป็นตัวอย่างเพื่อขอรับใบอนุญาต ให้แจ้งต่อ สมอ. ก่อนเริ่มทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่ผู้นำเข้าต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน(มาตรฐานบังคับ)เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อ ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้นเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทั้งหมด ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งต่อ สมอ. ก่อนเริ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และให้ผู้แจ้งเริ่มนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบรับแจ้ง และในกรณีที่ผู้นำเข้าต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) เข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องแสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ สมอ. ก่อนรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร สำหรับในกรณีที่เป็นการนำเข้ามาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย แต่ได้นำมาเกินจำนวนที่ สมอ. กำหนด ต้องแจ้งต่อ สมอ. ก่อนรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและลดขั้นตอนในการดำเนินงานให้มีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิ ได้มีการแก้ไขในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) หรือกฎเกณฑ์ของต่างประเทศหรือระหว่างประเทศทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ และจะระบุวันเริ่มใช้บังคับน้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ แก้ไขให้เลขาธิการ สมอ. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากเดิมที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการแต่งตั้งให้สามารถดำเนินการได้โดยรวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขรูปแบบการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) จากเดิมที่กำหนดให้ตราเป็น “พระราชกฤษฎีกา” เป็น ให้ออกเป็น “กฎกระทรวง” เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดทำมาตรฐาน เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 
           
สำหรับบทลงโทษ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยปรับปรุงให้สอดคล้องกันทั้งฉบับ รวมถึงการเปรียบเทียบคดี ให้เกิดความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่มโทษปรับของผู้ทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. จากเดิม จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับผู้จำหน่ายที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) โดยไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับตั้งแต่ 5 พัน – 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของการแก้ไข พ.ร.บ. เท่านั้น ซึ่งหากผู้ประกอบการหรือผู้สนใจท่านใดต้องการทราบรายละเอียดของ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ฉบับแก้ไขล่าสุด สามารถติดตามได้ที่ www.tisi.go.th เมื่อ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ (เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ซึ่ง สมอ. มีความคาดหวังว่าการแก้ไข พ.รบ. ครั้งนี้จะทำให้การกำกับดูแลการทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถควบคุมและป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ท้องตลาดได้อย่างทันท่วงที อันจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการค้าของโลก และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับกลไกการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0