เอ็นไอเอ ดึงธุรกิจนวัตกรรม อัพเกรดทักษะสุดล้ำให้กลุ่มอาชีวะไทย

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2562
  • Share :

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) เร่งพัฒนาบุคลากรในกลุ่มอาชีวศึกษาให้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล่าสุดดำเนินโครงการ Founder Apprentice จับคู่นักศึกษาในกลุ่ม ปวช. ปวส. กับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้ได้ทดลองทำงานเสมือนเป็นเจ้าของกิจการ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับสถานประกอบการอย่างเข้มข้น โดยระหว่างการทำงานจะมีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เยาวชนมีทักษะการทำงานตรงกับที่แต่ละอุตสาหกรรมต้องการ รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต
 
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า  ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังต้องการกำลังคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ และทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์กับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จากความสำคัญที่เกิดขึ้น จึงทำให้หลายหน่วยงานเริ่มมีการเตรียมความพร้อมที่จะผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถประกอบวิชาชีพและธุรกิจเพื่อตอบสนองตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งการยกระดับบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ
 
โดยหนึ่งในกลุ่มบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วประเทศคือกลุ่มอาชีวศึกษา เนื่องจากบุคลากรในกลุ่มดังกล่าว มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม จากสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยี การเรียนการสอนเพียงแค่ในห้องเรียน หรือการฝึกปฏิบัติทักษะในรูปแบบเดิม ๆ อาจยังไม่เพียงพอเท่าไหร่นัก ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มรวมทั้งกลุ่มอาชีวศึกษาจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ พร้อมด้วยทักษะแห่งอนาคตให้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสแห่งการประกอบวิชาชีพ รวมถึงโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มี ประสิทธิภาพได้ต่อไป
 
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้เร่งพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีทักษะความสามารถด้านธุรกิจนวัตกรรม ล่าสุดดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Founder Apprentice) เป็นปีที่ 2 โดยในปีนี้เริ่มเปิดรับเยาวชนกลุ่มอาชีวศึกษา ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าร่วมโครงการเป็นปีแรก เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาที่อยากจะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ได้มาฝึกฝนพัฒนาศักยภาพผ่านการทดลองทำงานจริงร่วมกับบริษัทนวัตกรรมในสาขาต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะอื่นๆที่จำเป็นสำหรับสถานประกอบการอย่างเข้มข้นในช่วงปิดภาคเรียน โดยก่อนเข้าฝึกงานเยาวชนจะได้รับการติดอาวุธ เรียนรู้มิติต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น ตามกระบวนการ STEAM4INNOVATOR และระหว่างการทำงานจะมีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เยาวชนมีทักษะการทำงานตรงกับที่แต่ละอุตสาหกรรมต้องการ รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต
 
สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการ Founder Apprentice ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนิสิต นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยจำนวน 30 คน ได้เข้าไปฝึกประสบการณ์ใน 22 บริษัทนวัตกรรม เยาวชนเกิดการเติบโตเชิงแนวคิด เกิดการต่อยอดความฝัน มีความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจ และเกิดการสร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกันอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้กระบวนการก้าวไปสู่ผู้ประกอบการและการปฏิบัติงานในสายงานธุรกิจนวัตกรรม 5 ด้าน ได้แก่ 1. การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจริงในโลกธุรกิจเป็นเวลา 5 วัน ตามกระบวนการของ STEAM4INNOVATOR ซึ่งจะนำความรู้ด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการมาบูรณาการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วย 2. การพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าของธุรกิจ ถามตอบข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจนวัตกรรมอย่างใกล้ชิดกับเจ้าของกิจการจำนวน 4 ครั้ง 3. การเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการฝึกงานในบริษัทนวัตกรรมเป็นเวลา 3 เดือน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับโจทย์ทางธุรกิจที่ตรงกับความถนัดหรือความสนใจของตน และได้มีส่วนในการลงมือทำงานเพื่อหาคำตอบให้กับโจทย์ทางธุรกิจนั้น   4. การพบที่ปรึกษาและโค้ชอาชีพ ที่จะมาแนะแนวทางที่ในการพัฒนาความสามารถของตัวเองอย่างตรงจุด และช่วยออกแบบเส้นทางอาชีพในอนาคต และ 5. การนำเสนอผลงานต่อผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรม ผู้บริหาร รวมถึงได้สร้างเครือข่ายกับเจ้าของธุรกิจ นักลงทุน และบุคคลในวงการธุรกิจนวัตกรรมที่น่าสนใจ พร้อมรับคำแนะนำต่อยอดหลังจากจบโครงการ ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย
 
ในโอกาสครบรอบ 10 ปี แห่งการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA มุ่งเดินหน้าสู่การเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการได้รับการสนับสนุนให้กับเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้สนใจการพัฒนานวัตกรรมทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ INNOVATION NATION หรือประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ
 
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555  และ www.nia.or.th