เก็บ “ภาษีหักที่จ่าย” อัตราเดียว จูงใจเอกชนชำระผ่านออนไลน์
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ กรมสรรพากรจะมีมาตรการจูงใจให้ผู้ที่ต้องมีการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย (withholding tax) แก่กรมสรรพากร หันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding tax) แทนรูปแบบเดิม หลังจากที่ผ่านมาได้มีมาตรการจูงใจสำหรับผู้ที่ลงทุนระบบนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice/e-receipt) ไปแล้ว
“กรมจะมีมาตรการจูงใจสำหรับผู้ที่เข้าระบบ e-Withholding tax โดยจะให้หักเพียงอัตราเดียว เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้ฟันธงว่า จะเป็นอัตราที่เท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องเป็นอัตราที่ลดลงจากเดิมที่เคยถูกหักอยู่ในปัจจุบัน”
นายเอกนิติกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบไป เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการลงทุนระบบการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ ค่าบริการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการลงทุนดังกล่าวที่ได้จ่ายไป ในช่วงวันที่ 30 เม.ย. 2562-31 ธ.ค. 2562 มาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า
ทั้งนี้ การเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงแล้ว สำหรับกรมสรรพากรเองก็จะมีความสะดวก และลดต้นทุนในการตรวจสอบภาษีด้วย เนื่องจากการตรวจสอบใบกำกับภาษี ปัจจุบันกรมต้องขอจากผู้ประกอบการเพื่อนำมากระทบยอดภาษีซื้อกับภาษีขาย ซึ่งมีต้นทุนดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง
“ต้นทุนการออกใบกำกับภาษี ผมว่าไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อใบ เพราะเวลาออกต้องใช้ทรัพยากรมาก ทั้งคนเขียน คนทำ พิมพ์กระดาษ เก็บหลักฐานเพื่อส่งให้ตรวจสอบ แต่ถ้าทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะลดต้นทุนได้อย่างมาก ซึ่งจากที่เราเห็นตัวอย่างในการใช้บล็อกเชน น่าจะลดต้นทุนได้เหลือไม่ถึง 1 บาทต่อใบ” นายเอกนิติกล่าว
นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้ยึดหลักการที่ว่า หากใครเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์จะถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่ดี ไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กรมจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งในกรณีกลุ่มเสี่ยงนั้น หากตรวจสอบแล้วพบว่า เสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีที่ขาด พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมถึงหากมีการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ก็ยังต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาอีกด้วย
รายงานจากกรมสรรพากรแจ้งว่า ปัจจุบันภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยกตัวอย่างกรณีเป็นนิติบุคคลรับจ้างทำของ จะถูกหักที่ 5% หากเป็นค่าบริการจะถูกหัก 3% ค่าโฆษณาถูกหัก 2% ค่าเบี้ยประกันหัก 1% ค่าขนส่งหัก 1% ขณะที่กรณีบุคคลธรรมดา หากรับจ้างทำของปัจจุบันถูกหัก 3% รับเหมาถูกหัก 3% รับโฆษณาถูกหัก 2% บริการถูกหัก 3% ค่าขนส่งถูกหัก 1% เป็นต้น ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาว่า หากเข้าระบบ e-Withholding tax จะได้รับการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้เหลือหัก 2% หรือ 1% เพียงอัตราเดียว ซึ่งการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ จะสอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคล ที่ลดลงมาเหลือ 20% ในปัจจุบัน และจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากขึ้น
ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า แนวคิดขณะนี้ คือ จะมีการลดอัตราหัก ณ ที่จ่าย ให้ผู้ที่เข้าระบบ e-Withholding tax ซึ่งจะมีข้อสรุปภายในปีนี้ แต่จะเหลือ 1% หรือ 2% นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องคำนวณถึงผลได้กับผลการสูญเสียรายได้ให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากมุมหนึ่งก็มองได้ว่า การลดอัตราหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว จะทำให้ขยายฐานภาษี คือ มีกลุ่มที่ไม่เคยถูกหัก ณ ที่จ่ายมาก่อน มาเข้าระบบมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องดูว่า รายได้รัฐจะหายไปแค่ไหน
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลดำเนินงานมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แต๊ะเอียช่วยชาติ) โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า จากการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 7-15 ก.พ. 2562 ผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th พบว่า มีผู้ลงทะเบียน 34,856 ราย ซึ่งระบุเลขบัญชีธนาคารที่จะนำมาใช้ชำระเงิน จำนวน 40,074 เลขที่บัญชี ขณะที่มีร้านค้าสมัครเข้าร่วม 213 ราย 19,551 สาขาทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี พบว่าผู้ที่ลงทะเบียนร่วมโครงการมีเพียง 18.55% ที่ซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยทั้งสิ้น 654,186 บาท โดยกระทรวงการคลังสำรวจพบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน