ก.วิทย์ฯ , ก.สาธารณสุข ร่วมกับ ก.ศึกษาธิการ เปิด YMID ศูนย์กลางย่านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยระดับโลก

อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 434 Reads   

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธีเปิดตัวย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District : YMID) เพื่อผลักดันให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางย่านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยระดับโลก
 
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพและการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพถือเป็นเรื่องหนึ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญและเร่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติในเรื่องความรู้ความสามารถในการให้บริการทางด้านสุขภาพ ดังนั้นการวางรากฐานและสร้างต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ Thailand 4.0 ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
 
จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี โดยมี นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อร่วมพัฒนาแนวทางและกิจกรรมในการพัฒนาย่านฯ ทั้งในด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีให้เป็นศูนย์กลางและการรักษาและการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพต้นแบบขึ้น ภายใต้พื้นที่ ย่านโยธี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตย่านที่มีสถานพยาบาล สถาบันการศึกษาทางการแพทย์ ที่มีการ กระจุกตัวของโรงพยาบาล และสถาบันทางการแพทย์ จำนวนทรัพยากรบุคคล บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ สถานพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และโครงสร้างพื้นฐาน ต่อจำนวนประชากรสูงสุดในกรุงเทพมหานคร
 
การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี มีวัตถุประสงค์ 4 ส่วน คือ

(1) พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับนวัตกรรม โดย ใช้ทรัพยากรพื้นที่เนื้อเมือง และความหนาแน่นด้านนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ
(2) พัฒนาสินทรัพย์ 3 ด้าน คือ กายภาพ เศรษฐกิจ และเครือข่าย ให้เหมาะสมในการรองรับการเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมทางการแพทย์และการ วิจัย
(3) พัฒนาศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการ สร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ
(4) ปลดล็อกข้อจํากัดและผลักดันโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพของหน่วยงานภายในพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ
 

ซึ่งการวางพื้นฐานในการพัฒนาขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญโดยองค์ประกอบในการพัฒนาย่านต้องประกอบไป ด้วย การพัฒนาระบบโครงการพื้นฐาน หรือ พื้นที่ เพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และทดลองนวัตกรรม ทางการแพทย์ การมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาย่านจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน การส่งเสริมการสร้างและใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในย่านและโดยรอบ รวมทั้ง นำไปสู่อุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ การวางมาตรการและนโยบายการสนับสนุนการลงทุนด้านนวัตกรรม ทางการแพทย์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมทางด้าน การแพทย์ และฐานข้อมูลเพื่อการบริการทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศษฐกิจขึ้นจากเดิม ประมาณ 3,500 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3% ของ GDP และสามารถพัฒนาพื้นที่ใช้สอยให้เกิดการลงทุนการบริการ สุขภาพและอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นในย่าน ร่วมถึงการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมสุขภาพแห่งแรกของประเทศเพื่อ รองรับการเติบโตของการบริการสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้น