What"s New สัมมนาแห่งปี BOI ลดภาษี 50% 3 ปี ดึงทุน 1,000 ล.

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 516 Reads   

ในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ "THAILAND INVESTMENT YEAR-What"s New ?" โดยงานสัมมนาลักษณะนี้ทาง BOI ตั้งใจให้เป็นงานสัมมนาใหญ่แห่งปีที่นักลงทุนจะต้องพูดถึง และสอดรับกับปี 2562 ซึ่งถูกประกาศให้เป็นปีแห่งการลงทุนจากการวางรากฐานโครงการและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังเดินหน้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลโครงการใหญ่ ๆ ในช่วงต้นปีนี้

ย้ำ EEC ต้องเดินหน้าต่อไป 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดสัมมนาด้วยการหยิบยกเอา ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขึ้นมาว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องทำ 3 อย่าง คือ 1) การต่อยอดจากอดีตเพื่อเพิ่มมูลค่า 2) การปรับปัจจุบันโดยโครงการก่อสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งบนบก น้ำ อากาศ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดิจิทัล และ 3) การสร้างคุณค่าใหม่ ด้วยการสร้างบุคลากร SMEs และ startup ที่จำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของตลาด 

ด้าน "นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจโลกจะซบเซา แต่ประเทศไทยกลับมีการเคลื่อนไหวในหลายด้าน ทั้งตัวเลขการเติบโตของ GDP มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และฮ่องกง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการค้าการลงทุน ขณะที่ไทยเองก็ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ อย่างในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูล 5 โครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ "การดึงการลงทุนเข้ามา แม้จะเป็นหน้าที่ของ BOI แต่ BOI ไม่ทำแค่นั้น ยังต้องดูแลเรื่องของการศึกษา คนชรา มีโครงการสร้างที่อยู่อาศัย โครงการที่สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนจึงไม่ใช่แค่จูงใจ แต่ต้องมีเงื่อนไขให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย มันจึงจะเป็นการพัฒนาที่ครบทั้งหมดทั้งเศรษฐกิจและสังคม สำหรับโครงการ EEC รัฐบาลให้คำสัญญากับนักลงทุนว่า EEC จะต้องอยู่แน่นอน เพราะมีกฎหมายออกมารองรับแล้ว ดังนั้น โครงการก็ควรต้องเดินต่อไป" นายสมคิดกล่าว

แจง 11 มาตรการ BOI

ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายใหม่ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่ม First S-curve คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เฉพาะกลุ่ม New S-curve จะมีหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และล่าสุดได้เพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กับอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา

ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ประกอบด้วย 1) มาตรการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2) มาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีแห่งการลงทุน 3) มาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET/MAI 4) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 5) มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ smart city 6) มาตรการเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำ 7) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) 8) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 9) มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs 10) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก และ 11) มาตรการอำนวยความสะดวก

ปีแห่งการลงทุน 2562

ในขณะที่ปี 2562 ได้ถูกตั้งเป้าหมายให้เป็น "ปีแห่งการลงทุน" คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการประชุมบอร์ดใหญ่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงได้กำหนด "มาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีแห่งการลงทุน" ด้วยการกำหนดเงื่อนไขหากนักลงทุนรายใดมีคุณสมบัติ ประกอบไปด้วย 1) เงินลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นประเภทในกลุ่มกิจการ A1-A3 โครงการตั้งอยู่นอกเขต กทม. และไม่มีการขยายเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอน (ตั้งแต่การตอบรับมติ จนถึงการเปิดดำเนินการ) จะได้สิทธิประโยชน์ "เพิ่มเติม" ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 3 ปี โดยที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการพิเศษนี้ไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาลต้องการโครงการขนาดใหญ่ที่เน้นเทคโนโลยี BOI เชื่อว่านับจากนี้จะมีหลายโครงการที่เข้าเงื่อนไขและได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการนี้

"รัฐบาลต้องการเร่งรัดให้เกิดการลงทุน ดังนั้น การใช้มาตรการกระตุ้นจึงเป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญอีกเครื่องมือหนึ่ง และในปีนี้เองก็ยังคงเชื่อว่า เป้ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามที่ตั้งไว้จะยังคงเป็นไปได้ที่ตัวเลข 750,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC จะยังคงอยู่ที่ 50-60% ส่วนใหญ่จะเป็นยานยนต์และปิโตรเคมี" น.ส.ดวงใจกล่าว

นอกจากการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนแล้ว น.ส.ดวงใจกล่าวว่า BOI ยังปรับปรุงเพิ่มบางโครงการเข้ามา เช่น ในมาตรการ EEC ให้มีความร่วมมือกับ 14 สถาบัน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการปรับคุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ในส่วนของ smart visa สำหรับผู้เชี่ยวชาญ โดยเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนสามารถใช้ช่องทาง fast track ในการเข้าออกทุกสนามบิน ออกมาตรการมากมาย ต่อจากนั้นได้มีการเปิด "คลินิกให้คำปรึกษานักลงทุน" มากกว่า 700 รายที่ลงทะเบียนเข้ามา "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เป็นรายเล็กและรายกลาง "ยินดี" ที่ BOI จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว แต่มีนักลงทุนบางส่วน "สะท้อน" ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ที่เข้ามาร่วมงานเป็นเพราะที่ผ่านมา ยังไม่ทราบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ออกมามากมายติดต่อกัน บางมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่อยอดจากเดิม ทำให้ไม่รู้ว่ามาตรการที่ขอรับส่งเสริมไปแล้ว จะถูก BOI ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ให้มากกว่าเดิมหรือไม่ "ตรงนี้มันเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างรายเก่ากับรายใหม่ เราจำเป็นต้องมาที่คลินิกเพื่อสอบถามให้แน่ชัด" นักลงทุนรายหนึ่งกล่าว


นอกจากนี้ จากการสอบถามนักลงทุนที่แจ้งว่า อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ สิ่งทอ เกษตรแปรรูป หลายต่อหลายรายยังมีความไม่เข้าใจถึงมาตรการของ BOI เนื่องจากบางมาตรการมีเงื่อนไขที่ไม่ตรงกับประเภทกิจการที่กำหนด บางมาตรการมีการปรับแก้โดยนักลงทุนไม่ทราบล่วงหน้า และบางมาตรการที่ออกมานั้น "มีมากจนเกินไป" 

แม้จะยอมรับว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อสนับสนุนและเพื่อให้ตรงกับการลงทุนที่ประเทศต้องการก็ตาม ขณะเดียวกัน มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมมองว่า การขยายระยะเวลาออกไปในบางมาตรการนั้นส่งผลดีก็จริง แต่ในทางกลับกันกลับทำให้นักลงทุนตั้งความหวังว่า "อีกสักพัก BOI ก็ออกมาตรการเพิ่มเติมที่ดีกว่ามาตรการปัจจุบันออกมาอีก" ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนลงทุน เพราะรอว่าสุดท้ายแล้ว BOI ก็ต้องผ่อนเกณฑ์และขยายเวลาให้นับเป็นความสำเร็จของคลินิกให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนที่กลายมาเป็นช่องทางสำคัญที่นักลงทุนสามารถสอบถามข้อสงสัย-ข้อเท็จจริงเชิงนโยบายและการปฏิบัติ และต้องการให้ BOI จัดสัมมนาในลักษณะนี้อีก