สคช. เปิดแผนปี 62 สร้างมาตรฐาน 10 อาชีพใหม่รองรับ AEC

อัปเดตล่าสุด 6 ก.ย. 2561
  • Share :

สคช. เผยปี 2562 สร้างมาตรฐานใน 10 อาชีพใหม่ ชี้ 2 วาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งยกระดับอาชีพคนที่เหลื่อมล้ำ และการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต New S-curve รวมถึงอาชีพที่รองรับการทำงานในต่างประเทศและกลุ่ม AEC

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายการขับเคลื่อนระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพที่สอดคล้องกับ Thailand 4.0 เพื่อยกระดับสมรรถนะกำลังคนให้ได้ 310,000 คน ในปี 2564 ถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. มีนโยบายในการจัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่ ในปีงบประมาณ 2562 ทั้งหมด 10 สาขาอาชีพ

แบ่งเป็นสาขาอาชีพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 5 อาชีพ ประกอบด้วย 

  1. ธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 
  2. ธุรกิจอาหาร 
  3. อุตสาหกรรมและแปรรูปเหล็ก
  4. ผลิตเครื่องจักรและโลหะการ
  5. ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง

 

และสาขาอาชีพตามแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ 5 อาชีพ ประกอบด้วย 

  1. งานเทคนิคบนลาดจอด(การบิน) 
  2. เทคนิคกายอุปกรณ์ 
  3. แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 
  4. มาตรวิทยา ระยะ 3
  5. ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูง ระยะ 2 

 

ส่วนมาตรฐานอาชีพที่ทบทวน ในปีงบประมาณ 2562 มีทั้งหมด 10 สาขาวิชาชีพ แบ่งเป็นอาชีพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 5 อาชีพ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2.ความปลอดภัยในการทำงาน 3.บริการยานยนต์ 4. อุตสาหกรรมการพิมพ์ และ 5.ธุรกิจถ่ายภาพ และอีก 5 อาชีพตามแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ประกอบด้วย 1.การเชื่อมอุตสาหกรรม 2.ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี /การจัดการพลังงาน 3.ผลิตภัณฑ์ยางพารา 4.อุตสาหกรรมผลิตแม่พิมพ์ และ 5.บริการสุขภาพ

นายพิสิฐ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนในระยะยาวของการจัดทำมาตรฐานอาชีพนั้น ยุทธศาสตร์ของ สคช. ยังคงอยู่ในทิศทางที่สอดคล้องและสนับสนุนแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน และเป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะต้องมีการทบทวน 72 สาขาวิชาชีพ ครอบคลุมอาชีพกว่า 500 อาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการปรับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็น 8 ระดับเทียบเท่ากับกรอบคุณวุฒิการศึกษาและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน เพื่อรองรับกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง 

ขณะที่แผนวาระเร่งด่วนนั้น สคช.จะเร่งดำเนินการใน 2 ด้าน คือ 1.ยกระดับอาชีพคนที่เหลื่อมล้ำ เนื่องจากปัจจุบันมีอาชีพ 500-600 อาชีพ ในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการรับรองและยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่เข้าไปยกระดับมาตรฐานอาชีพดังกล่าว ซึ่งการที่ สคช. เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องของมาตรฐานอาชีพ จะช่วยยกระดับอาชีพและต่อยอดรายได้ของคนกลุ่มนี้ได้ในอนาคต 2.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่ม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต New S-curve รวมถึงอาชีพในเวที AEC  ซึ่งการเข้าไปสร้างมาตรฐานอาชีพนั้น เพื่อให้กำลังคนมีคุณสมบัติเหมาะสมและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้  รวมถึงสามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อไปทำงานในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โทร. 02 617 7970 ต่อ 203