เปิดม่าน ! SMEs Pro-active มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3

อัปเดตล่าสุด 6 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 448 Reads   

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายมานะผล ภู่สมบุญ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active ระยะที่ 3) เพื่อขยายฐานการสนับสนุนให้ครอบคลุมผู้ประกอบการมากขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม เอบี โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ

โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active) โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2562-2564) สานต่อความสำเร็จจากระยะที่ 1 และ 2 โดยมีการปรับเปลี่ยนและเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการระยะใหม่ เพื่อขยายฐานการสนับสนุนผู้ประกอบการและอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมโครงการและขอรับบริการ 

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ดำเนินการโครงการ SMEs Pro-active ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการ (SMEs) ไทยในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่มีศักยภาพและกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ (SMEs) ไทยทั้งในด้านการแข่งขันทางการค้าและความสามารถในการขยายฐานตลาดต่างประเทศ การดำเนินโครงการระยะที่ 1 (ปีงบประมาณ 2556 - 2558) ได้สนับสนุนผู้ประกอบการกว่า 2,600 ราย (กิจกรรมงานแสดงสินค้าและเดินทางไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศกว่า 427 งาน) เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการส่งออกรวมกว่า 269 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8,600 ล้านบาท และการดำเนินโครงการระยะที่ 2 รวมสนับสนุนผู้ประกอบการกว่า 1,700 ราย (กิจกรรมงานแสดงสินค้าและเดินทางไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศกว่า 520 งาน) มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการส่งออกรวมประมาณ 210 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,030 ล้านบาท

ในส่วนของระยะที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งการปรับหลักเกณฑ์การสนับสนุนและเพิ่มเติมลักษณะกิจกรรมที่สนับสนุนของโครงการ เพื่อตอบสนองตามข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการระยะที่ผ่านมา พร้อมปรับปรุงให้โครงการมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ได้แก่ การเริ่มต้นนับสิทธิ์การเข้าร่วมตั้งต้นใหม่ (Set Zero) สำหรับระยะที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสแก่ผู้ใช้สิทธิ์รายเก่าที่ใช้สิทธิ์ครบจำนวนจากระยะก่อนหน้า รวมถึงแก้ไขคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนิติบุคคลที่มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อขยายฐานการสนับสนุนให้ครอบคลุมผู้ประกอบการมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ ‘Oversea trade exhibitions’ จำนวน 6 ครั้ง/ระยะและกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ ‘Business Opportunities and Partnership’ ประกอบด้วยการทำ Business Matching Business Pitching และการประกวดแข่งขัน เช่น การประกวดภาพยนตร์และสารคดีในต่างประเทศ จำนวน 6 ครั้ง/ระยะ และเงินสนับสนุนรายละไม่เกิน 200,000 บาท/ราย

นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้นำระบบการบริหารจัดการโครงการออนไลน์ (Online Platform) โดยเฉพาะการใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ในกระบวนการรับสมัคร ประเมินผล และติดตามผลมาปรับใช้ในการบริหารโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย E-Government ของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active