กม.ใหม่จัดกลุ่ม 1.4 แสนโรงงาน จัดทัพ “Third Party” ตรวจสอบ

อัปเดตล่าสุด 5 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 889 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมบังคับใช้ พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับใหม่) พ.ศ. 2562 แทนฉบับเก่าปี 2535 เร็ว ๆ นี้ โดยแก้ไข “นิยามขอบเขตการเป็นโรงงาน” จากเดิมต้องมีเครื่องจักร 5 แรงม้า มาเป็น 50 แรงม้า ส่งผลให้โรงงาน 70,000 โรง จะไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทั้งยังจัดกลุ่มประเภทโรงงานใหม่ถ่ายโอนอำนาจให้ อปท. อบต. รวมถึงการยกเลิกต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.4) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนด้วยการสร้างกลไก “Third Party” ตรวจสอบโรงงาน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การจัดขอบเขตกลุ่มประเภทโรงงานใหม่ตามกฎหมายใหม่ กำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 1 ให้มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือคนงานเกิน 50 คน ไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ทันที จากเดิมเครื่องจักร 5-20 แรงม้า หรือคนงาน 7-20 คน (ไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ทันที) โดยมีเทศบาล และ กรอ.ดูแล


ส่วนโรงงานจำพวกที่ 2 เครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป (ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการ) จากเดิมเครื่องจักร 20-50 แรงม้า (ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อนจึงจะประกอบกิจการ) โดยจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และยังสามารถรับจดแจ้งใบอนุญาตโรงงานจำพวก 2 ได้ทันที 


ขณะที่โรงงานจำพวก 3 ปัจจุบันมี 79,586 โรง จะถูกจัดให้เป็นสถานประกอบการ กำหนดเครื่องจักรแรงม้าใหม่ และในอนาคตมีแผนที่จะถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ด้วยเช่นกัน ผลจากการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.นี้ อาจทำให้โรงงานที่ขึ้นทะเบียนอยู่เดิม ส่วนหนึ่ง “ไม่อยู่” ในบังคับกฎหมายนี้


เหตุผลสำคัญที่มีการแก้ไขขอบเขต เนื่องจากโรงงานที่มีเครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า หรือคนงานไม่ถึง 50 คน ถือเป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs สร้างมลพิษไม่มาก การประกอบกิจการไม่มีความซับซ้อน ดังนั้น การนำกฎหมายโรงงานเข้าไปควบคุมอย่างที่ผ่านมาอาจ “เกินความจำเป็น” และอาจ “เป็นอุปสรรค” ในการขับเคลื่อน SMEs ได้ภายหลังจากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต้องรับรองตนเอง (Self declared) และจะไม่มีการขอต่อใบอนุญาต รง.4 จากเดิมที่ต้องต่ออายุทุก 5 ปี ซึ่งการที่กฎหมายอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น กระบวนการตรวจสอบย่อมมีความสำคัญ จึงต้องมีมาตรฐานเข้มข้น หากพบว่าโรงงานกระทำผิดกฎหมายสามารถสั่งปรับปรุงแก้ไข หรือสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือปิดโรงงานแล้วแต่กรณี


อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายโรงงานปรับจำพวกโรงงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการควบคุม เพราะยังคงมีการควบคุมโดยกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรณีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวให้กำกับดูแลแทนที่สำคัญกฎหมายใหม่ได้กำหนดกลไกการตรวจสอบโรงงาน โดยการใช้บุคคลที่ 3 หรือ Third Party ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมมาร่วมตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส


โดยองค์ประกอบของบุคคลที่ 3 ที่จะมาทำหน้าที่นี้ทาง กรอ.ประสานกับหน่วยงาน 11 สถาบันเครือข่ายภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันยานยนต์ เป็นต้น


“ Third Party จะเข้ามาช่วยตรวจโรงงานที่อาจก่อปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อน รำคาญ หรือเหตุอันตรายที่ต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตสุรา โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น


จากนี้ต้องติดตามผลการบังคับใช้กฎหมาย เพราะแนวโน้มจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมมีเพิ่มมากขึ้น จากนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2562) มีจำนวนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ 1,042 โรงงาน แม้ว่าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,275 โรงงาน แต่ในด้านเม็ดเงินลงทุนมีถึง 84,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 55,809 ล้านบาท สะท้อนว่ามีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น ดังนั้นการตรวจสอบก็ยิ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุมด้วย ”