กรอ.กางแผนงานปี 63 คุมเข้มรง.ปล่อยมลพิษ-เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ 4.0

อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 2563
  • Share :

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยแผนบริหารงาน 4 ด้านในปี 63 หวังเดินหน้าในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และตรวจเข้มโรงงาน 5,000-6,000 แห่ง ป้องกันความเสี่ยงด้านน้ำเสีย อากาศเสีย กากอุตสาหกรรมและความปลอดภัย สนองนโยบายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เน้นคุมเข้มทำจริงโดยปี 62 สั่งปิด 6 โรงงานและสั่งแก้ปัญหากรณีถูกร้องเรียน 35 โรงงาน ทันที

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยแผนดำเนินงานในปี 2563 ว่า ในปี 63 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้ความสำคัญในแผนงาน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การดำเนินนโยบายการปกป้องสิ่งแวดล้อม และปราบปรามผู้ประกอบการที่กระทำผิด จนเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบบเข้มงวดมากขึ้น 2.การพัฒนากฎหมาย และระบบดิจิทัล เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0  3.การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และ 4. การพัฒนาบุคลากรตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจไทยควบคู่กับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม


สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก ทาง กรอ. เน้นบริหารจัดการ กำกับ ดูแล และเฝ้าระวังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กรอ. มีแผนในการตรวจกำกับโรงงาน 5,000 - 6,000 โรงงาน เพื่อเฝ้าระวังเรื่องของความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ น้ำเสีย อากาศ กากอุตสาหกรรม ความปลอดภัย (สารเคมี อัคคีภัย ระบบไฟฟ้า หม้อน้ำ) หลังจากพบว่าในปี 62 มีชาวบ้านหรือชุมชนร้องเรียนโรงงานที่สร้างความเดือดร้อนมายัง กรอ. จำนวน 594 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 61 เล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของกลิ่นเหม็นมากที่สุด 389 เรื่อง รองลงมาเป็นเสียงดังจำนวน 200 เรื่อง, เรื่องฝุ่นละอองจำนวน 136 เรื่อง, ทำงานกลางคืนจำนวน 89 เรื่อง และเรื่องเขม่าควันจำนวน 79 เรื่อง เป็นต้น

ขณะเดียวกันหากพบว่าโรงงานมีการปล่อยมลพิษทาง กรอ. ก็จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าระงับ และจัดการ เพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ เนื่องจากกรมมีระบบรายงานมลพิษแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ทั้งน้ำ อากาศ และกากอุตสาหกรรม นอกจากนี้ก็จะพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและพัฒนาระบบอนุญาตและการกำกับดูแล ทั้งข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการวัตถุอันตราย  เชื่อมโยงเอกสารและข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐ  การนำระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม (E Fully Manifest) และทำเนียบสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมถึงการผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดมลพิษ เป็นต้น

“การดำเนินการตาม พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่ก็ถือว่าเป็นงานใหม่ในปี 63 ซึ่งนอกจากจะสร้างระบบ มาตรฐานในการบริหารจัดการ และกำกับดูแลโรงงานให้มีความคล่องตัวและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่มีความน่าสนใจ สามารถดึงดูดนักลงทุนได้แล้วนั้น ยังมีเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ เช่น เรื่องการรับรองตนเองของผู้ประกอบการ และการกำกับดูแล Third Party แล้วยังต้องอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานรองรับได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็น การถ่ายโอนภารกิจให้แก่หน่วยงานท้องถิ่นในการกำกับดูแลโรงงาน”

นอกจากนี้ในปี 2563 กรอ. จะผลักดันโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายตั้งแต่ปี 62 อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ที่ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเบื้องต้นมอบหมายให้ กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน (กทส.) ประสานการดำเนินการกับอุตสาหกรรมจังหวัดอย่างใกล้ชิด,  โครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ก็จะประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมจังหวัด โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น กลุ่มที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลัก โดยเริ่มจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคลองอู่ตะเภา ซึ่งจะขยายผลไปอีก 25 ลุ่มน้ำสายหลัก และโครงการอื่น ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการน่าลงทุน เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและต้องเป็นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่เคียงข้างชุมชนได้อย่างมีความสุข 

นายประกอบ กล่าวต่อว่า ส่วนแผนดำเนินในรอบปี 2562 กรอ. ได้มีคำสั่งกรณีที่มีการร้องเรียนและตรวจพบว่าโรงงานมีการกระทำความผิด โดยมีคำสั่งปิดโรงงานปี 61 จำนวน 4 โรงงาน และในปี 62 จำนวน 6 โรงงาน พร้อมทั้งสั่งการให้ดำเนินการแก้ไข ปี 61 จำนวน 36 โรงงาน และปี 62 จำนวน 35 โรงงาน ส่วนกรณีการทิ้งกากอุตสาหกรรมที่จังหวัดสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในกรณีที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 12 วัน ดำเนินการตั้งแต่การตรวจสอบ การดำเนินคดี และการสั่งปิดโรงงานชั่วคราว เป็นต้น

นอกจากนี้กรมโรงงานฯ ยังประสานการทำงานแบบบูรณาการโดยตรวจกำกับร่วมกับกระทรวงฯ และหน่วยงานอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำงานตามปกติ เช่น บูรณาการการทำงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงแรงงาน ในการตรวจกำกับด้านความปลอดภัย,  บูรณาการในการตรวจกำกับดูแลกับหน่วยราชการอื่น ตามพ.ร.บ.โรงงาน และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย เช่น การดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว (เศษพลาสติก E-Waste และ Used –E) โดยทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กระทรวงพาณิชย์, กรมศุลกากร, กรมควบคุมมลพิษ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ในจังหวัดที่มีปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องการอนุญาตนำเข้า-นำผ่านของสารโซเดียมไซยาไนด์ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

ส่วนผลงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรอบปี 62 เช่น การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสู่ Factory 4.0, การอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทำความเย็นและหม้อน้ำในโรงงาน, การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้โรงงานปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในโรงงาน กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วกว่า 2,131 เครื่อง หรือจำนวนโรงงาน 107 โรงงาน, การส่งเสริมสนับสนุนเพื่อยกระดับโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปี 62 จำนวน 2,921 ราย จากเป้าหมายที่ 2,000 ราย ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันมีจำนวนโรงงานที่ได้รับเครื่องหมายอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วกว่า 37,412 ราย, ส่งเสริมโรงงานให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR- DIW) จำนวน 353 ราย โดยปัจจุบันมีจำนวนรวมแล้วกว่า 4,547 ราย เป็นต้น

สำหรับ ข้อมูลโรงงานที่เปิดใหม่และขยายกิจการในปี 62 มี จำนวน 4,379 โรงงานลดลงจากปีก่อน 15.80% เกิดการจ้างงาน 207,602 คน เพิ่มขึ้น 1.52% มีเงินลงทุน 483,672.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.86%  ส่วนโรงงานที่ขอเลิกกิจการมี 1,743 โรงงาน ลดลง 12.89% จำนวนคนงาน 43,987 คน เพิ่มขึ้น 5.68% และจำนวนเงินทุน 56,562.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.10%   

“ส่วนการคาดการณ์การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปี 63  นั้นน่ามีการตั้งและขยายโรงงานที่ดีกว่าปี 62 เห็นได้จากสถิติย้อนหลังประกอบกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลด้านต่าง ๆ ที่ทำให้โรงงานเข้ามาลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเมินว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการปรับตัวตามแนวทางการพัฒนาของประเทศ หรือการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะภาคอุตสาหกรรมของไทยจะมีความพร้อมที่จะไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ และเป็นมิตรกับชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการส่งเสริมทิศทางภาคอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน ตามวิสัยทัศน์กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ว่า“ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ให้ทันสมัย ก้าวไกล และยั่งยืน” นายประกอบ กล่าว