พาณิชย์บี้พ่อค้าจ้องขึ้นราคา ลักไก่”ปรับสูตร-ลดไซซ์สินค้า”
อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดแผน “กำราบ” พ่อค้าหัวใส ใช้วิธีตีเนียนปรับสูตรใหม่ ขอขึ้นราคาสินค้าทางอ้อม ยันค่าน้ำมันที่ขยับขึ้นไม่มีผลต่อต้นทุนขนส่ง เดินหน้าผนึก คปภ.-อย.จัดระเบียบบริการทางการแพทย์ ระบุ 5,000 รายการ ยังไม่มีรหัสสากล UCEP อาจต้องรออีก 3 ปี จึงจะคุมค่าบริการของโรงพยาบาลได้ พร้อมอัพขึ้นโซเชียลลอตแรก 12 ก.ค.นี้ แจงงบประมาณล่าช้าไม่ส่งผลถึงร้านธงฟ้าประชารัฐ
ตลอดเดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกค่อนข้างผันผวนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของอิหร่านกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลให้น้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น ล่าสุด (27 มิถุนายน 2562) น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 59.43 เหรียญ/บาร์เรล (+0.05), เบรนต์ 66.55 เหรียญ/บาร์เรล (+0.06) และน้ำมันดิบดูไบ 64.26 เหรียญ/บาร์เรล (+0.12)
ความผันผวนของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภคใช้อ้างขอปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลัง
“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจร้านค้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบมีสินค้าบางกลุ่มที่ใช้น้ำหนักมากในการบรรทุก อาทิ กลุ่มแพ็กเกจจิ้งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงค่าบริการ รถตู้ แจ้งลูกค้า ขอปรับราคาขึ้นไปอีก 3-4% แล้ว
คุมเข้มขึ้นราคาสินค้า
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงนโยบายและแนวทางการดูแลราคาสินค้าช่วงครึ่งปีหลังว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญ/บาร์เรล เทียบกับในอดีตที่ราคาน้ำมันดิบเคยปรับขึ้นไปสูงถึง 140 เหรียญ/บาร์เรล “ดังนั้นผู้ประกอบการคงไม่สามารถนำเรื่องนี้มาเป็นเหตุผลปรับขึ้นราคาสินค้าได้” โดยในช่วงครึ่งปีแรกยืนยันว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนค่าขนส่งมายังกรม อีกทั้งกรมได้เพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับการตั้งราคาสินค้าชนิดใหม่ เนื่องจากในอดีตผู้ประกอบการจะแจ้งปรับสูตรหรือตั้งราคาใหม่ เสมือนการขอขึ้นราคาทางอ้อม
“การตั้งราคาสินค้าใหม่เราจะพิจารณาเทียบเคียงกับราคาเก่า โดยจะเทียบราคาแบบต่อหน่วยเป็นหลักมิลลิลิตรเลย หากราคาใหม่ต่างจากของเก่าแค่สตางค์เดียวก็ไม่ให้ แม้ว่าการตั้งราคาใหม่หรือปรับไซซ์ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่จำเป็นต้องเทียบหน่วยต่อหน่วย หากรายใดแจ้งปรับสูตรส่วนผสมให้คุณสมบัติดีขึ้นก็ต้องแสดงโครงสร้างต้นทุนมายังกรมฯ เรามีฐานคำนวณโครงสร้างต้นทุน”อย่างไรก็ตาม มองว่าช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยผู้ประกอบการควรจะต้องคำนึงถึงภาพรวม-กำลังซื้อภายในตลาด-การแข่งขันในด้านราคาด้วย หากรายใดปรับขึ้นราคาช่วงนี้ “อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของตนก็เป็นได้”
บี้แจ้งต้นทุนยา-ค่าบริการ
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการดูแลสินค้ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ซึ่งได้ขึ้นบัญชีเป็น “สินค้าควบคุม” ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ไปแล้วนั้น ขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์จะสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้ประกอบการ-สถานพยาบาล ยื่นบัญชีแสดงต้นทุนและราคาจำหน่ายปลีกสินค้ายาและเวชภัณฑ์มายังกรมการค้าภายใน (ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562) เพื่ออัปโหลดรายการราคาจำหน่ายปลีกขึ้นบนเว็บไซต์ของกรม และจัดทำคิวอาร์โค้ดให้แต่ละโรงพยาบาลต่าง ๆ นำไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยที่มารักษาพยาบาลรับทราบราคาจำหน่ายปลีกที่เหมาะสม
โดยกรมการค้าภายในจะนำร่องส่วนของยาที่มี “รหัสสากล” จำนวน 3,892 รายการ จากนั้นจะทยอยดำเนินการให้ครบ 32,000 รายการ หลังจากแสดงราคายาแล้วหากประชาชนพบปัญหาราคายาสูงผิดปกติก็สามารถแจ้งมาที่กรมการค้าภายใน เพื่อตรวจสอบกับบัญชีต้นทุนที่กรมได้ ในสเต็ปต่อไป กรมฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)-สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)-สมาคมวินาศภัย ศึกษาแนวทางจัดทำรหัสสากลในบริการทางการแพทย์ เพื่อใช้กำหนดค่าบริการทางการแพทย์
เนื่องจากปัจจุบันมีบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายประเภท และมีจำนวนมากถึง 5,286 รายการที่ยังไม่มี “รหัสสากล (UCEP)” ทำให้ยากที่จะกำหนด “ราคาบริการทางการแพทย์” ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนซับซ้อน คาดว่า “ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีเป็นอย่างน้อย” เทียบกับอดีตในการจัดทำบัญชียาที่มีมาตรฐาน UCEP ใช้เวลาถึง 4 ปี อย่างไรก็ตาม หากจัดทำรหัส UCEP ค่าบริการทางการแพทย์สำเร็จก็จะสามารถทำ “บัญชีต้นทุนค่าบริการทางการแพทย์” และค่าบริการที่เป็นมาตรฐานยอมรับในระดับสากลต่อไป
“ปัจจุบันสินค้ายาและเวชภัณฑ์จะมีรหัสไทยหรือ TMT หรือ Thai Medicines Terminology อยู่แล้ว กล่าวคือ ยา จำนวน 32,000 รายการ บริการทางการแพทย์กว่า 5,000 รายการ แต่ยังไม่มีการจัดทำรหัสสากล UCEP ซึ่งรหัสนี้ทุกโรงพยาบาล อย. กรมบัญชีกลาง หรือในต่างประเทศต้องมีจากนั้นจึงจะจัดทำบัญชีราคาค่ารักษาบริการทางการแพทย์เป็นที่รับรู้ร่วมกันได้” นายวิชัยกล่าว
สำหรับการหารือกับเลขาธิการ คปภ. ถึงมาตรการดูแลธุรกิจประกันภัย หลังจากขึ้นบัญชีค่ายาไปแล้ว ทาง คปภ.จะทบทวนและออกประกาศระเบียบ คปภ.กำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันใหม่ในเร็ว ๆ นี้ เชื่อว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการจ่ายประกันภัยภัยสุขภาพที่ลดลง ถือเป็นการลดภาระค่าครองชีพ ส่วนการดำเนินการ “โครงการโรงพยาบาลธงฟ้า” ยังต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะดำเนินการอย่างไร
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน 42 ราย ร้องให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ขึ้นบัญชีควบคุมยานั้น ล่าสุดอัยการฝ่ายกรมการค้าภายในได้ชี้แจงถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลแล้ว “ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการของศาลว่าจะมีการเรียกสอบเพิ่มเติมหรือไม่”
ร้านธงฟ้าเปิดต่อเนื่อง
นายวิชัยกล่าวถึงการดำเนินโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพในช่วงครึ่งปีหลังว่า กรมฯ ยังคงดำเนิน “โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ” ต่อเนื่อง แม้ว่างบประมาณประจำปีจะล่าช้ากว่ากำหนด โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 74,989 แห่ง แบ่งเป็นร้านที่ติดตั้งเครื่อง EDC จำนวน 33,448 ร้าน และร้านที่ใช้ระบบโมบายแอปพลิเคชั่นถุงทอง 41,541 ราย ประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการคนจนมีจำนวน 14.55 ล้านคน มียอดการซื้อสินค้าตั้งแต่ตุลาคม 2560-มิถุนายน 2562 รวม 71,252 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าชุมชน และสินค้าโอท็อปต่าง ๆ
“เราตั้งเป้าหมายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐไว้ 100,000 แห่ง ตอนนี้ยอดสมัครเกินแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างทยอยติดตั้ง EDC ส่วนการจัดมหกรรมร้านธงฟ้าประชารัฐอาจปรับรูปแบบให้สอดรับกับงบประมาณ เช่น อาจจัดปลีกกระจายไปตามเขตพื้นที่แทนการจัดมหกรรมอย่างที่เคยจัดเมื่อปีก่อน” นายวิชัยกล่าว