1810210005-CLMV-Monitor

SCB EIC วิเคราะห์ CLMV Monitor แนะโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน

อัปเดตล่าสุด 1 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 548 Reads   

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ยังขยายตัวโดดเด่นราว 6-7% กลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มาพร้อมกับโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่ทั่วโลกต่างจับตามอง อีไอซีได้ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ CLMV Monitor รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจ CLMV พร้อมให้มุมมองทางธุรกิจแก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจในตลาด CLMV โดยในรายงานประกอบด้วยภาพรวมเศรษฐกิจ บทวิเคราะห์สำหรับนักลงทุน รวมถึงบทความพิเศษในประเด็นที่น่าสนใจ

อีไอซีประมาณการเศรษฐกิจ CLMV ปี 2561 ขยายตัวสูงราว 6-7% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งออกและการท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ CLMV โดยเฉพาะการลงทุนจากจีนและความเชื่อมโยงในโครงการ Belt and Road Initiative ด้านการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าอุตสาหกรรมเบา แม้จะมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์การค้าโลก นอกจากนี้ กลุ่มประเทศ CLMV ได้ผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นนโยบายสนับสนุนการเติบโต ซึ่งสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นทำให้เศรษฐกิจ CLMV ที่ยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศในระดับสูง ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่มากขึ้น และอาจสร้างแรงกดดันให้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศในระยะต่อไปได้

เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มเติบโต 6.9% ในปี 2561 จากการขยายตัวที่ค่อนข้างกระจายตัวในภาคเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่ต้องจับตาการเริ่มชะลอตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ในครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตและส่งออกเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ขยายตัวดี การก่อสร้างยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และบรรยากาศการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเพิ่มขึ้น 14%YOY รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาก็เพิ่มขึ้นถึง 14%YOY อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากการลดลงของความสามารถในการแข่งขันจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เศรษฐกิจลาวมีแนวโน้มขยายตัว 6.8% ในปี 2561 แต่จะมีความท้าทายที่มากขึ้นในการบริหารความเสี่ยงจากการขาดดุลทางการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดภายใต้ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น การผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของ GDP และมีส่วนช่วยในการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 2.5% จะเป็นแรงส่งสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจลาวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไฟฟ้าให้คู่ค้าหลักอย่างไทยเพิ่มขึ้นถึง 110%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2561 อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพภายนอกของลาวมีความเปราะบาง จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องและทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ ประกอบกับการขาดดุลการคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ลาวต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศแตะระดับค่อนข้างสูงที่ 61% และ 114% ของ GDP ในปี 2560 ตามลำดับ

เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวราว 7% ในปีงบประมาณ 2561/2562 แต่การอ่อนค่าอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของเงินจ๊าดส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีความเปราะบางยิ่งขึ้น ภาคการเกษตรที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจเมียนมาในปีนี้ แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและปัญหาสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ นอกจากนั้น การขาดดุลการค้าและเงินลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง รวมถึงการขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในประเทศ ทำให้เงินจ๊าดอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันด้านราคาให้แก่สินค้านำเข้าและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้

เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตราว 6.6% ในปี 2561 จากภาคการส่งออกที่เติบโตสูง แต่อาจเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ในครึ่งแรกของปี 2561 ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญเติบโตได้ดีที่ 6.9%YOY และ 9.1%YOY ตามลำดับ ขณะเดียวกันเวียดนามยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออกขยายตัวสูง 16%YOY โดยเฉพาะสินค้าโทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน แต่สงครามการค้าที่ตึงเครียดขึ้นอาจส่งผลลบทางอ้อมต่อการส่งออกของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับจีนค่อนข้างมากผ่านส่งออกสินค้าขั้นกลางไปจีน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง