สมคิด หัวรถจักรทีมเศรษฐกิจ ลากไฮสปีด EEC-ดันแพ็กเกจกู้ภัยแล้ง

อัปเดตล่าสุด 29 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 356 Reads   

รายงานพิเศษ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี “สองแผ่นดิน” หายหน้าหายตาไปจากวาระการเมือง-เศรษฐกิจ ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหาร-รัฐบาลนักเลือกตั้ง กว่า 7 เดือน

ก่อนจะเปิดห้องให้ “นักข่าวเศรษฐกิจ” เปิดใจก่อนแถลงนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

“อีอีซี” หัวรถจักร ศก.ไทย 

แม้ในยุค “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์สมัยสอง” นายสมคิดจะมีตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” อีกสมัยต่อเนื่อง ทว่า ตำแหน่งต่อท้าย ว่า “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” อาจพูดได้ไม่เต็มปากมากนัก

เพราะอย่างน้อยกระทรวงด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ต้องขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจาก 2 พรรคร่วมกุมบังเหียน อยู่ในทำเนียบรัฐบาลด้วย

โดยมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมกระทรวงเศรษฐกิจรากหญ้า

ขณะที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมกระทรวงเมกะโปรเจ็กต์

ในยุครัฐบาลเลือกตั้ง หลายโครงการ “เมกะโปรเจ็กต์” มูลค่าหลายแสนล้านใน “ช่วงรอยต่อ” ระหว่างทีมเศรษฐกิจเก่ากับ “ทีมเศรษฐกิจใหม่” ถูกฝ่ายค้านและฝ่ายเดียวกันเองคัดค้าน-ทบทวน-รื้อร่างสัญญาจากทุกทิศทุกทาง

ทั้งการ “แตะเบรก” ของ “เจ้ากระทรวงคนใหม่” และการยื่น “ญัตติด่วน” ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯ เพื่อศึกษา-ตรวจสอบ-ชะลอการลงนาม “ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน” และผังเมืองเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ในขณะที่ “สมคิด” ยังต้องรั้งนักลงทุน เพื่อลาก “หัวจักรเศรษฐกิจ” ผ่านโครงการขนาดใหญ่-เมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะ “โปรเจ็กต์อีอีซี” ที่มีโบกี้พ่วงท้ายหลายโครงการนับล้านล้านบาท

แต่นายสมคิดยังยืนยันว่า โครงการใหญ่และสำคัญที่สุดในการแจ้งเกิดเขตเศรษฐกิจอีอีซี คือ สัมปทานโครงการไฮสปีดที่จ่อลงนามในสัญญา “งานไม่สะดุดหรอก เพราะว่ารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินก็จะลงนามในไม่ช้า”

บนสมมุติฐานที่ว่า โครงการอีอีซีได้ลงหลักปักฐาน-ตอกเสาเข็มลึก และ “โครงการอีอีซีใหญ่เกินที่ใครจะพังได้” บนข้อกังวลที่ว่า “บางเรื่องช้าได้ แต่บางเรื่องไม่ควรช้า เพราะจะส่งผลต่อต้นทุนให้สูงขึ้น”

ปลุก “ครม.ศก.” 

การบริหารเศรษฐกิจในยุคไม่มี “แม่ทัพเศรษฐกิจ” คอนโทรลทุกกระทรวงเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ เหมือนในยุครัฐบาล-คสช. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ดี “พล.อ.ประยุทธ์” ไฟเขียวการตั้ง “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” จากการ “ชง” ของนายสมคิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างคำสั่ง โดย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี

“ครม.เศรษฐกิจมีประโยชน์ตรงที่มีการหารือกันของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในเรื่องที่จะทำ และต้องประสานงานกับกระทรวงเศรษฐกิจอื่น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยนายกฯ เป็นซีอีโอของคณะรัฐบาล”

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ “สมคิด” พอจะทำได้ คือ “ทำในมุมของตัวเองให้ดีที่สุด” ซึ่ง “สมคิด” ดีดลูกคิด-คิดไว้ในหัวแล้วว่า “วาระเศรษฐกิจ” จะมีอะไรบ้าง เพื่อ “ออกแรงส่ง” เศรษฐกิจไทยภายใต้กลไก ครม.เศรษฐกิจ “ไม่ทำให้นักลงทุนหนีไปไหน”

“สมคิด” เชื่อว่า “ถ้าเราทำดี เขา(นักลงทุน) ก็มาหาเรา” ดังนั้น “ถ้าสเตเบิล เปลี่ยนผ่านได้ดี ประเทศก็จะเดินหน้าไปได้ ไม่ยากลำบาก” แต่ “ช่วงนี้ถ้าเปลี่ยนผ่านได้ไม่ดี นักลงทุนเผ่นแน่นอน” โดยมีเวียดนาม-อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งเศรษฐกิจที่สำคัญ

“สมคิด” ยอมรับว่า การไม่ได้มีคำพ่วงท้ายว่า “กัปตันเศรษฐกิจ” เหมือนในยุครัฐบาล-คสช. ทำให้เขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ “ไม่เต็มไม้เต็มมือ”

ส่วนการแบ่งงาน 5 รองนายกรัฐมนตรี เป็น “อาญาสิทธิ์” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ท่ามกลางกระแสข่าว “ยึด” กระทรวงพลังงาน มาเป็น “กระทรวงความมั่นคง”

นำร่องแพ็กเกจภัยแล้ง

ปฏิทินเศรษฐกิจของรัฐบาลผสม 19 พรรค ภายใต้ 3 ทีมเศรษฐกิจผสม “ถือฤกษ์” นับ 1 หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ทั้งเรื่องนโยบาย-โครงการเร่งด่วน เพื่อนำเข้าสู่การเห็นชอบในการประชุม “ครม.นัดแรก” ในวันที่ 30 ก.ค.

โดยทันทีที่แถลงนโยบายเสร็จสิ้นลง “ขุนคลัง” อุตตม สาวนายน จะ “นำร่อง” แถลงนโยบายของกระทรวงการคลัง และ “แพ็กเกจ” ช่วยเหลือภัยแล้ง เช่น แก้หนี้เดิม-สินเชื่อใหม่-เงินหมุนเวียน

ดันไทยศูนย์กลาง Start up

ทริปแรกที่ “สมคิด” จะสานต่อโปรเจ็กต์ “โรดโชว์เศรษฐกิจ” คือ การเข้าร่วมประชุม Belt and Road Initiative (BRI) ในเดือนตุลาคมศกนี้ ที่ฮ่องกง

เพื่อขยายการพูดคุยจากปีที่ผ่านมา จากที่ฝ่ายไทยต้องการเชื่อมโยง Greater Bay Area (GBA) ประกอบด้วยกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า โดยเฉพาะการร่วมมือกับ “ฮ่องกง ไซเบอร์พอร์ต” เพื่อตั้ง “ไทยแลนด์ ไซเบอร์พอร์ต” ให้เป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

“เมืองไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบมาก ฮ่องกงไว้ใจไทย เป้าหมายคือการคอนเน็กต์ตลาดเงิน ตลาดทุนไทยกับฮ่องกง มูลค่าเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมหาศาล ฮ่องกงต้องการที่จะมูฟฐานการผลิตมาไทย”

ศึกใหญ่งบฯ 63-ไม่ไว้วางใจ 

“สมคิด” ไม่หนักใจกับการตั้งแท่นซักฟอกนโยบายรัฐบาลใหม่-รัฐบาล คสช. รวมถึงการขุดคุ้ยประวัติรัฐมนตรีสีเทา ของ 7 พรรคฝ่ายค้าน แต่วิตกศึกใหม่-ศึกภายภาคหน้าที่แรงขึ้นมา คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในเดือนกันยายนและการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า

เคล็ดวิชาใหม่เลี่ยงศึกชิงเก้าอี้

“สมคิด” ขาดการติดต่อ-เร้นกายอยู่ในประเทศในแถบทวีปยุโรปเกือบ 7 วัน ของ “สมคิด” ในช่วงที่กลุ่ม-ก๊วนในพรรคพลังประชารัฐเปิด “ศึกสามก๊ก” ชิงโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี จนพรรคพลังประชารัฐเกือบจะพังพาบ

เขาอยู่ใน “อีกโลก” ชั่วขณะ จนมีเสียง “miss call” นับ “ร้อยสาย” ทำให้ ค้นพบ “เคล็ดวิชาใหม่” ที่ได้จากการปลีกวิเวกออกจากวงโคจรความขัดแย้ง-ถีบตัวออกจากความสุดขั้วภายในพลังประชารัฐ และ “ในที่สุดมันก็ผ่านไป”

“พรุ่งนี้โชคดีเป็นของผม” สมคิดปิดการสนทนาด้วยความหวัง มองโลกด้านบวกเสมอ