ส.อ.ท. เข้าพบนายกรัฐมนตรี หารือแนวทางกระตุ้น ศก. ไทย

ส.อ.ท. พบนายกรัฐมนตรี หารือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 2567
  • Share :
  • 1,344 Reads   

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อนำเสนอแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทย และขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน ณ อาคารชินวัตร 3

23 สิงหาคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อนำเสนอ 5 ข้อเสนอเร่งด่วน และหาแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เอกชนเน้นย้ำเสมอ โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว”

ในส่วนของระยะเร่งด่วน ส.อ.ท. เสนอแนะว่า

1)  ต้องมีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด โดย
    -  เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีคุณภาพหรือไม่มีมาตรฐานที่มีการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร มีการทดสอบมาตรฐานก่อนนำเข้า เพิ่มจำนวนเครื่องเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ป้องกันการสำแดงเท็จ รวมทั้งตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด
    -  บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมถึงการดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาด
    -  ออกมาตรการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ
    -  เชื่อมโยงระบบการบริการข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือ National Single Window (NSW) เพื่อตรวจสอบและอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาต

2)  ต้องมีการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย
    -  เพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า MiT ผ่านวิธี e-bidding จากเดิม 5% เป็น 10% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อสร้างกระแสเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการไทย
    -  กำหนดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แทนการอ้างอิงมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานมีความมั่นใจในสินค้า
    -  ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับภาคเอกชนที่จัดซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรอง MIT ให้สามารถนำยอดซื้อมาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
    -  ออกมาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกที่ได้รับการรับรอง MiT ไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ ค่าขนส่งในประเทศ เป็นต้น

3)  ควรมีการลดต้นทุนด้านการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานด้านต้นทุนพลังงาน ได้แก่
    -  คงอัตราค่าไฟฟ้าโดยไม่ปรับเพิ่มขึ้น หรือปรับลดค่า Ft เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในสภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
    -  บริหารจัดการความจุสำรอง (Reserve Capacity) ให้อยู่ในระดับไม่สูงเกินไป โดยพิจารณาการเจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้าที่จะเกิดใหม่ให้สอดคล้องระหว่างกำลังความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิต
    -  พิจารณาผลดี ผลเสียของการเกลี่ยค่าใช้จ่ายไปในอนาคต โดยขยายสัญญาการผลิตของโรงไฟฟ้า เพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า
    -  ลดเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม
    -  เร่งพิจารณากระบวนการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

สำหรับการดำเนินงานด้านต้นทุนแรงงาน
    -  ควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีจังหวัดพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
    -  ส่งเสริมการปรับอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน
    -  ผลักดันให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ ให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินการ
    -  พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้ง Upskill/ Reskill/ Multi-Skill/ Future Skill ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน สอดรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
    -  ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่สนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน
    -  จัดทำแพลตฟอร์ม Future Skill ที่ครบวงจร โดยมีงบประมาณสนับสนุนการฝึกและพัฒนาอาชีพ

4)  ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้
    -  ออกมาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SME ไทย การผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้กู้ ณ เงื่อนไขที่ SME กู้เงินไม่ได้ เช่น การดูประวัติ NPL ไม่มีหลักทรัพย์ เป็นสาขาธุรกิจที่มีความเสี่ยงหรืออื่นๆ ซึ่งธนาคารกำหนดไว้และเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อของ SME มาโดยตลอด
    -  จัดสรรวงเงินเฉพาะเพื่อช่วยเหลือ SME ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองธุรกิจ พร้อมให้คำปรึกษาในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปด้วย
    -  ผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยสินเชื่อกับ SME สาหรับลูกค้าที่ติดเครดิตบูโรเกิน 1 ปี โดยไม่นำเอาประวัติการติดเครดิตบูโรในอดีตมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ หาก ณ วันที่ยื่นขอสินเชื่อผู้ประกอบการไม่เป็น NPLs แล้ว
    -  ออกมาตรการสินเชื่อพิเศษ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริม SME โดยอัตราดอกเบี้ย 2 – 3% คงที่เป็นเวลา 3 ปี โดยขยายครอบคลุมทั้งการลงทุนและเงินหมุนเวียนในกิจการ
    -  ขอให้สถาบันการเงินเปิดให้มีการปรับเพิ่มระยะเวลาการผ่อนเป็นทางเลือก รวมทั้งปรับลดค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง
    -  ขอให้สถาบันการเงินและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังมีการส่งเสริมและผลักดัน  SME สู่ Smart SME ด้วย 4 GO คือ
1.  GO Digital: สนับสนุนการลงทุนพัฒนาไปสู่ Digital Transformation 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ SMEs ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
2.  GO Innovation: สร้างหน่วยงานกลางและหน่วยงานความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจนวัตกรรมที่เข้มแข็งในแต่ละภูมิภาค สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในส่วนที่สำคัญของอุตสาหกรรม และการจัดหาตลาดรองรับสินค้านวัตกรรม
3.  GO Global: สร้างโอกาสด้านการตลาดต่างประเทศให้กับ SME ที่มีศักยภาพ การจัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศจากรัฐบาลทั่วทุกมุมโลก การพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายของไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น และการเตรียมความพร้อมให้ SME มีศักยภาพสู่ตลาดต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ
4.  GO Green: การให้ความรู้แก่ SME และสนับสนุนให้ SME ปรับธุรกิจไปสู่ธุรกิจสีเขียว สนับสนุนเงินทุนสำหรับการขอการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมแก่ SME รวมถึงการให้แต้มต่อด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครับและภาษีแก่สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5)  ควรมีการส่งเสริมการค้าชายแดน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์
    -  เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพิจารณายกระดับจุดผ่อนปรนพิเศษทางการค้าและจุดผ่อนปรนทางการค้า ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร
    -  นำเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าผ่านด่านท่าบก ท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านไปยังท่าบกของ สปป.ลาว
    -  แก้ไขข้อจำกัด อุปสรรคนโยบายรัฐและพัฒนาโครงข่ายระบบรางภายในประเทศ
    -  จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาส่งเสริมโครงข่ายเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค
    -  ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า – ส่งออกสินค้าทางอากาศ

สำหรับการดำเนินการระยะกลางและระยะยาว ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1)  ควรมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รักษาฐานการผลิตยานยนต์ของไทย ผ่านวิธีการต่างๆ ดังนี้
    -  รักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่เป็น Future ICE (Future Internal Combustion Engine) ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
    -  ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ ICE โดยเฉพาะตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้
    -  กระตุ้นการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ เช่น สนับสนุนแนวทางการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสาหรับยานยนต์ที่จะบังคับใช้ปี 2569 ออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในกลุ่ม Future ICE (Product champion, HEV, PHEV, REEV) ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานมลพิษ (Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ และ Euro 6 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่) ให้มีความเหมาะสม
    -  ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตชิ้นส่วนประเภทอะไหล่ทดแทน  REM (Replacement Equipment Manufacturing)
    -  สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมสู่ทิศทางความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งการผลักดันนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ยกระดับให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ยานยนต์สมัยใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
    -  จัดตั้งกองทุนสนับสนุน หรือกำหนดมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน และการเตรียมพร้อมการรับมือกับมาตรการทางคาร์บอน
    -  ส่งเสริมนโยบายการเปลี่ยนผ่านชิ้นส่วนยานยนต์ (Part Transformation) เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอื่นๆ ทั้งเครื่องมือแพทย์ ระบบราง อากาศยาน และ Robot & Automation รวมทั้งสร้างกลไกการจับคู่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มการผลิตในประเทศ (Localization) และต่อยอดสู่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronic Parts)

2)  ควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย ผ่านอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ
อุตสาหกรรมอาหาร
    -  มุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับจากลำดับที่ 12 สู่ TOP 10 ในการส่งออกอาหารระดับโลกในอนาคต
    -  เปิดร้านอาหารไทยที่มีมาตรฐานในต่างประเทศ (B2B)
    -  ผลักดันวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก (B2C)
    -  ใช้ Influencer เพื่อสร้างกระแสความนิยมและความต้องการสินค้าอาหารไทย ต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหารในประเทศไทย

อุตสาหกรรมแฟชั่น
    -  ตั้งเป้าหมายสร้างอัตลักษณ์ของการแต่งกายไทยผ่านการส่งเสริม “THAINESS LIFESTYLE” ด้วยการนำเสนอผ่านสื่อและพัฒนาเครื่องหมายที่สะท้อนความเป็นไทย เช่น “HAPPY THAI” เพื่อให้เอกลักษณ์การแต่งกายไทยเป็นที่ยอมรับและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และวางแผนพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของอัญมณีไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

อุตสาหกรรมเกม
    -  พัฒนาและสนับสนุนการสร้างเกมไทยให้สามารถเข้าสู่ระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายให้มีเกมไทยติดอันดับ TOP TEN ของเกมระดับโลกในระยะ 5 ปี เช่น ให้หน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(DEPA) ประเมินมูลค่าและโอกาสในการลงทุน และเสนอส่วนลดภาษีสำหรับการลงทุนและการนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
    -  ส่งเสริมการส่งออกเกมไทยและสนับสนุนการตลาดออนไลน์ผ่านผู้คัดเลือกตัวแสดง (Caster) กลางและยาว

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
    -  จังหวัดจันทบุรีได้รับเลือกเป็นจังหวัดนำร่องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีแผนการสนับสนุน Soft Power ในทุกจังหวัดผ่านการผลิตรายการสื่อ เช่น "One Province, One Series"

3)  ควรมีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
    -  กำหนดให้การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Reform) เป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้กลไกผ่านวิธีการแก้ไขกฎหมายกลาง (Omnibus Laws) และ Regulatory Guillotine
    -  ผลักดันข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยรัฐบาลสนับสนุน ข้อสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายฯ และผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

ทั้งนี้ มติที่ประชุม เห็นด้วยกับข้อเสนอ ส.อ.ท. โดยหลังจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมอบหมายเจ้าภาพในการขับเคลื่อนข้อเสนอร่วมกัน รวมทั้งจะรื้อฟื้นการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเป็นรายอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตและเห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH