SME ไทยปรับตัวสู่ดิจิทัล ปี 2568 | ผลสำรวจจาก สสว.

SME ไทยเร่งทรานส์ฟอร์มดิจิทัล! สสว. เผยผลสำรวจปี 2568 ชี้ต้องเสริมทักษะ-ทุน

อัปเดตล่าสุด 23 เม.ย. 2568
  • Share :

สสว. เผยผลสำรวจ Digital Transformation ของ SME ปี 2568 ชี้แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องเร่งเสริมทักษะ-เงินทุน

23 เมษายน 2568 - สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการสำรวจการขับเคลื่อน Digital ของ SME ไทย ประจำปี 2568 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเริ่มมีการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ Social Media และโปรแกรมบริหารจัดการธุรกิจ โดยกว่า 80% ของกลุ่มตัวอย่าง ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านการให้บริการและการตลาด อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ความยุ่งยากในการใช้งาน และทักษะของบุคลากร

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า ผลสำรวจ Digital Transformation ดังกล่าว เป็นการสำรวจต่อเนื่องปีที่ 2 โดยสอบถามผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,704 ราย ครอบคลุม 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20–28 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเปรียบเทียบกับผลสำรวจเดือนพฤษภาคม 2567 โดยอ้างอิงตามแนวคิด Digital Maturity Model (DMM) ที่ใช้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ผลการประเมินระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของ SME พบว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 1.0–2.0 แม้จะมีการเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยการสำรวจครอบคลุม 5 Pillars ได้แก่ การติดต่อซัพพลายเออร์, การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การจัดการกระบวนการผลิต, การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งในแต่ละ Pillar พบว่ามีความก้าวหน้าในระดับเบื้องต้น โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และโปรแกรมบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM)

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า ภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มการพัฒนาไปสู่ระดับดิจิทัล 2.0 ได้มากกว่าภาคอื่น ได้แก่ ภาคการค้า ภาคการผลิต และภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade), การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม, รวมถึงภาคบริการอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี AI และแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์เข้ามาเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ

จากข้อมูลพบว่า SME กว่า 81% ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านการให้บริการและการตลาด เช่น การใช้ช่องทางชำระเงินและธุรกรรมออนไลน์ รองลงมาคือการใช้ AI เช่น Chatbot คิดเป็น 11% และการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ ERP คิดเป็น 8% โดยมีแรงผลักดันหลักจากความต้องการของลูกค้า (38%) รองลงมาคือการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น (29%) และความต้องการลดต้นทุน (23%)

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ งบประมาณที่จำกัด โดยเฉพาะการนำเข้าโปรแกรมจากต่างประเทศ ความยากในการวัดผลลัพธ์ของเทคโนโลยี และการขาดบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล

จากผลสำรวจนี้ สสว. มองว่าภาครัฐควรเร่งเพิ่มระดับการสนับสนุนและพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ โดยควรมุ่งเน้นการเพิ่มองค์ความรู้ การสนับสนุนทางการเงิน และการสร้างโอกาสให้ SME สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับศักยภาพทางธุรกิจและขยายสู่ตลาดใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

#SMEไทย #DigitalTransformation #สสว #SME2025 #เทคโนโลยีดิจิทัล #MReportTH #IndustryNews

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH