ส.อ.ท. กังวลสินค้าราคาถูกจากจีนทุ่มตลาด  ฉุดขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs ไทย

ส.อ.ท. กังวลสินค้าราคาถูกจากจีนทุ่มตลาด ฉุดขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs ไทย

อัปเดตล่าสุด 9 เม.ย. 2568
  • Share :

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 44 ในเดือนมีนาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการปรับกลยุทธ์รับมือสินค้านำเข้าจากจีน” พบว่า จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาการระบายอุปทานที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply) เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงไทยและอาเซียน

ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การไหลทะลักเข้าของสินค้าจีน สร้างผลกระทบทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยลดลงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงยังกดดันความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากในภาพรวมราคาสินค้านำเข้าจากจีนมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ประมาณ 20 - 40% ซึ่งเกิดจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตของจีน สินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาดทำให้ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน จนอาจทำให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดกิจการได้ 

ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ จึงเสนอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มีปรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุนฯ (Countervailing Duty: CVD) ให้มีประสิทธิภาพและทันกับสถานการณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เร่งสร้าง
จุดแข็งให้กับสินค้าไทย อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบริการหลังการขาย ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต
เพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้ 

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 540 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 44 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้

  • ​สินค้าที่ผลิตในประเทศได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดหรือไม่​​
  1. 70.9% ของผู้บริหารมองว่าสินค้าจีนที่นำเข้าแย่งส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย
  2. 29.1% มองว่าไม่กระทบ
  • จุดแข็งของสินค้าจีนที่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดประเทศไทยได้
  1. ราคาต่ำกว่าจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิต (90.7%)
  2. ความหลากหลายของสินค้าและการผลิตแบบ OEM/ODM ที่ยืดหยุ่น (38.5%)
  3. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง (25.0%)
  4. การปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานสินค้า (12.6%)
  • ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัญหาสินค้านำเข้าจากจีนและผลกระทบจากสงครามการค้าในเรื่องใด
  1. สินค้าราคาถูกจากจีนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs (72.2%)
  2. การลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและละเมิดลิขสิทธิ์ (52.4%)​
  3. การนำเข้าสินค้ามาสวมสิทธิ์ในการส่งออกหรือใช้วัตถุดิบในประเทศเพียงส่วนน้อย (27.8%)
  4. การขาดดุลการค้าและดุลการค้าที่ไม่สมดุล (23.0%)
  • สินค้านำเข้าจากจีนมีส่วนต่างราคาเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับสินค้าไทย
  1. ราคาต่ำกว่า 20-40% (45.0%)
  2. ราคาต่ำกว่า 10-20% (21.1%)
  3. ราคาต่ำกว่า 40% ขึ้นไป (19.5%)
  4. ไม่มีสินค้านำเข้าจากจีนในตลาด (11.1%)
  5. ราคาไม่แตกต่างหรือสินค้าไทยราคาต่ำกว่า (3.3%)
  • ภาครัฐควรมีมาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากสินค้านำเข้าจากจีนอย่างไร
  1. เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่ทันสมัย (62.0%)
  2. ปรับปรุงกระบวนการพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนฯ (44.6%)
  3. ทบทวนเงื่อนไขการใช้เขตปลอดอากรและป้องกันการนำเข้าสินค้าสวมสิทธิ์ส่งออก (39.6%)
  4. ส่งเสริมการบริโภคสินค้าไทยและสนับสนุนมาตรการภาษีสำหรับสินค้า Made in Thailand (MiT) (36.9%)
  • ภาคอุตสาหกรรมมีกลยุทธ์แนวทางการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับสินค้าจีนอย่างไร
  1. สร้างจุดแข็งด้วยวัตถุดิบคุณภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และบริการหลังการขายที่ดี (54.6%)
  2. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่า (52.4%)

 #ส.อ.ท #สินค้านำเข้าจากจีน #การแข่งขันของ SMEs #ราคาสินค้า #นโยบายภาครัฐ #ผลกระทบสินค้านำเข้าจากจีน #มาตรการป้องกันการทุ่มตลาด #นวัตกรรมเพื่อการแข่งขัน #ส.อ.ท.สำรวจ

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH