กกร. เผย GDP ปี 2567 ณ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 2.6 - 2.8 เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ

กกร. มองสดใส! เผย GDP ปี 2567 ณ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 2.6 - 2.8 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

อัปเดตล่าสุด 6 พ.ย. 2567
  • Share :
  • 4,452 Reads   

กกร. คาดการณ์ GDP ปี 2567 เติบโต 2.6 - 2.8% เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัว ผลจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ด้านเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวลงชัดเจน คาด GDP โลกทั้งปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำ เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคมของประเทศสำคัญหดตัวต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองเศรษฐกิจโลกปี 2567 ยังเติบโตได้ต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ส่วนปีหน้ามีแนวโน้มทรงตัว

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย  ร่วมในการแถลงข่าว

ประเด็นแถลงข่าว กกร.ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 มีดังนี้

  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงชัดเจน คาด GDP โลกทั้งปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำ เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคมของประเทศสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองเศรษฐกิจโลกปี 2567 ยังเติบโตได้ต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ส่วนปีหน้ามีแนวโน้มทรงตัว ทั้งนี้ยังเตือนว่าเศรษฐกิจโลกระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยหลัก ทั้ง (i) การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น (ii) อัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเร่งตัวจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ (iii) ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่แย่กว่าคาด
  • จับตาผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งนัยยะต่อเศรษฐกิจไทยเบื้องต้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อสินค้าไทยที่มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ คาดว่าจะกระทบการส่งออกไทยผ่านมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าและการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกินดุลการค้าสูงและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ ยางล้อ และกลุ่มสินค้าที่เกินดุลการค้าปานกลางและมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวรวดเร็ว เช่น เครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องติดตามความคืบหน้าของนโยบายเหล่านี้ต่อไป โดยภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเตรียมหาแนวทางร่วมกันในการรับมือกับนโยบายที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง
  • เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.6-2.8% สูงกว่าประมาณการเดิม จากแรงขับเคลื่อนของการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรขาขึ้นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งผลให้การส่งออกสามารถเติบโตได้ 2.5-2.9% สูงกว่าประมาณการเดิม ประกอบกับมีปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นกำลังซื้อ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและสร้างความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

  • ในระยะถัดไปเศรษฐกิจมีสัญญานการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ สะท้อนจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประกอบกับปัญหาสินค้าทุ่มตลาดที่ยังคงกดดันยอดขายของผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี และมาตรการเพิ่มกำลังซื้อคูณ 2 เช่น E-Receipt เป็นต้น ในช่วงต้นปีหน้าให้กับประชาชน รวมทั้งการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดย กกร.สนับสนุนการปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี และจะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความเข้าใจในรายละเอียด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อระบบและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ
  • ที่ประชุมกกร.สนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน  ตามที่สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ทั้งรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีภาระหนี้สูง และประสบความยากลำบากในการชำระหนี้  โดยมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อ SME รายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูง และมีปัญหาเริ่มค้างชำระ อ้างอิงข้อมูล  ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาชั่วคราว โดยทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดึงทุกภาคส่วนเข้าสู่ระบบ รวมถึงฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบถึงภาระและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้เกินกำลังหรือเกินความจำเป็น และเพื่อให้มีข้อมูลในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด เหมาะสมและเป็นธรรม ลดรอยรั่วที่เป็นต้นทุนแฝงในระบบ เช่น การเสริมทักษะแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นทรัพยากรขับเคลื่อนธุรกิจ SME พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการ SME เช่น มีมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการประมูลงานภาครัฐ    สำหรับแหล่งเงินทุนในมาตรการจะมาจาก 2 ส่วนคือ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ทั้งระบบเหลือ  0.23% และเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร โดยรายละเอียดของมาตรการทางธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
(ณ ก.ย. 67) ปี 2567
GDP 2.2 ถึง 2.7
ส่งออก 1.5 ถึง 2.5
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

(ณ ต.ค. 67) ปี 2567
GDP 2.2 ถึง 2.7
ส่งออก 1.5 ถึง 2.5
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

(ณ พ.ย. 67) ปี 2567
GDP 2.6 ถึง 2.8
ส่งออก 2.5 ถึง 2.9
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH