Thailand Export FTA 2021 January to May

การค้าไทยกับคู่ FTA 5 เดือนแรก โต 19% ส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมสดใส

อัปเดตล่าสุด 29 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 870 Reads   

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย แนวโน้มส่งออกไทยยังสดใส เหตุได้เอฟทีเอช่วยดันยอดการค้ากับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ 5 เดือนแรกปี 64 มีมูลค่าสูงถึง 137,968 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% เป็นมูลค่าส่งออกถึง 67,597 ล้านเหรียญสหรัฐ โตเฉียด 13% ส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมโตทั่วหน้า

Advertisement

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าและการส่งออกของไทยในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการกระจายการฉีดวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง เป็นปัจจัยสนับสนุน นอกจากนี้ ยังมีความตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทย ทำให้การค้าระหว่างประเทศกับคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 137,968 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 63.94% ของการค้าทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 พบว่าขยายตัวถึง 19% ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 67,597 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13% ตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด คือ นิวซีแลนด์ ขยายตัว 65% รองลงมา คือ ชิลี ขยายตัว 62% มาเลเซีย ขยายตัว 57% และ อินเดีย ขยายตัว 47%

นางอรมน เพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์) เป็นสินค้าที่เติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงดังกล่าว โดยการส่งออกไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวถึง 20% มีมูลค่าส่งออก 8,428 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน มูลค่าส่งออก 4,459 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 45%) รองลงมา คือ อาเซียน มูลค่าส่งออก 1,515 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 1%) และ ญี่ปุ่น มูลค่าส่งออก 1,431 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 10%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เช่น ทุเรียนสด ลำไยสด และมะม่วงสด เครื่องเทศและสมุนไพร เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า สินค้าอุตสาหกรรม เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวในตลาดคู่เอฟทีเอ มีมูลค่าการส่งออก 51,110 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 59.14% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด ขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ อาเซียน มูลค่าส่งออก 19,235 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 7) รองลงมา คือ จีน มูลค่าส่งออก 9,589 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 14%) และ ญี่ปุ่น มูลค่าส่งออก 8,144 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 9%) มีสินค้าส่งออกสำคัญแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่อำนวยความสะดวกในช่วง Work from Home เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน กลุ่มสินค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิตสินค้า เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ในส่วนของสินค้าเกษตรแปรรูปนั้น แม้ว่าภาพรวมการส่งออกไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอยังชะลอตัว แต่สินค้าเกษตรแปรรูปหลายรายการยังเติบโตได้ดี เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นต้น โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูงสุด คือ อินเดีย ขยายตัว 151% รองลงมา คือ มาเลเซียขยายตัว 38% และ สิงคโปร์ ขยายตัว 23% ตามลำดับ

#การค้าไทย #ส่งออกไทย #FTA #เอฟทีเอ #ใช้สิทธิ์FTA #สิทธิ์เอฟทีเอ #แนวโน้มส่งออกไทย #ส่งออกสินค้า #ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม #ส่งออกสินค้าเกษตร #กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ #กระทรวงพาณิชย์ 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH