ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนสิงหาคม (ส.ค.) 2566

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME 2566 เดือน ส.ค. ปรับลดลง กำลังซื้อชะลอ - ต้นทุนพุ่ง

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 27,809 Reads   

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนสิงหาคม 2566 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากกำลังซื้อที่ชะลอลง ตามภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค และต้นทุนของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คาดการณ์ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ตามแนวโน้มการใช้จ่ายช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี รวมถึงความคาดหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่

วันที่ 25 กันยายน 2566 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนสิงหาคม 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 51.4 ลดลงจากระดับ 52.0 จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอลง ปริมาณการสั่งซื้อต่อครั้งลดลง ตามภาระค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ทำให้กระทบกับยอดขายและปริมาณการผลิต/บริการเกือบทุกภาคธุรกิจ แม้แต่การท่องเที่ยวในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตามแม้ปัจจัยด้านต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบอาหารและเนื้อสัตว์ที่ราคาปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยต้นทุนด้านการขนส่ง ราคาพลังงานและค่าสาธารณูปโภคที่คงตัวในระดับสูง

ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงสูงสุด ได้แก่ ดัชนีด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ อยู่ที่ระดับ 56.9 จากระดับ 59.0 รองลงมา ได้แก่ ด้านกำไร อยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 53.6 ด้านคำสั่งซื้อโดยรวม อยู่ที่ระดับ 60.7 จากระดับ 62.1 ด้านการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 50.8 และด้านการลงทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 52.8 จากระดับ 53.1 ขณะที่ด้านต้นทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 35.7 จากระดับ 33.3 ตามลำดับ โดยค่าดัชนีฯ เกือบทุกองค์ประกอบยังคงอยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก ยกเว้นด้านต้นทุนที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าฐาน ที่แม้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นในกลุ่มวัตถุดิบอาหารและเนื้อสัตว์ แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังปรับสูงขึ้น 

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคธุรกิจสำคัญชะลอตัวลงทั้งหมด จากผลกระทบของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะภาคการผลิต มีค่าดัชนี SMESI ลดลงมากสุดอยู่ที่ 50.0 จากระดับ 51.1 ซึ่งปรับตัวลดลงในเกือบทุกสาขา ผลจากต้นทุนการขนส่งเป็นสำคัญและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ส่งผลต่อราคาขายและกำไรของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการบางรายสะท้อนความกังวลด้านต้นทุนค่าแรงงาน รองลงมา ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 54.8 จากระดับ 55.5 ชะลอตัวลงในหลายประเภทสินค้า จากปริมาณการผลิตที่ลดลงและสินค้าเกษตรหลายชนิดมีราคาตกต่ำ เช่น ยางพารา มังคุด รวมถึงสินค้าประมง

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าบางประเภทที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง เช่น ลำไย ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 53.1 จากระดับ 53.7 ชะลอตัวลงเกือบทุกกิจกรรมบริการแม้แต่กิจกรรมการท่องเที่ยวบางสาขา ผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อกิจกรรมบริการบางประเภท เช่น การก่อสร้างหรือกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง และภาคการค้า ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 49.9 จากระดับ 50.0 ชะลอตัวลงทั้งค้าส่งและค้าปลีกในหลายพื้นที่ แต่ในเขตกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญยังได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวช่วยพยุงกำลังซื้อ รวมถึงธุรกิจร้านขายจักรยานยนต์และร้านซ่อมที่ยังพอขยายตัวได้ 

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนสิงหาคม 2566 พบว่า เกือบทุกภูมิภาค ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง จากกำลังซื้อที่ลดลง สอดคล้องกับการเดินทางที่ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ยกเว้น ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 51.9 จากระดับ 51.6 ผลจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและการจัดกิจกรรมอีเว้นท์ในพื้นที่ โดย ภาคกลาง ปรับตัวลดลงมากที่สุด อยู่ที่ระดับ 52.1 จากระดับ 53.0 ทุกภาคธุรกิจชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการ รวมถึงภาคธุรกิจการเกษตรที่ชะลอตัวลงมากที่สุด โดยมีสัญญาณความกังวลต่อภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและรายได้ในอนาคต

รองลงมา ภาคเหนือ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 53.5 จากระดับ 55.2 ธุรกิจสำคัญในพื้นที่ส่วนใหญ่ชะลอตัวลง แม้แต่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศของฤดูฝน นักท่องเที่ยวจึงเลื่อนหรือลดเวลาท่องเที่ยวลง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเกษตรในกลุ่มชาวสวนลำไยยังขยายตัว ทั้งในแง่ของกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นและขายได้ราคาสูง

ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 53.9 จากระดับ 54.8 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลงจากธุรกิจนอกภาคการท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อลดลงและผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ผลไม้และยาง อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

ภาคตะวันออก ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 49.1 จากระดับ 49.3 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคการผลิต กลุ่มผลิตเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์และพลาสติก ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบหลัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.8 จากระดับ 49.3 ซึ่งสะท้อนมุมมองความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มบริการอสังหาริมทรัพย์ การขนส่งสินค้า ที่มีปริมาณการใช้บริการลดลงจากกำลังซื้อที่แผ่วลงและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสาธารณูปโภค ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนอยู่ที่ระดับ 55.8 จาก 54.2  โดยปรับขึ้นทุกองค์ประกอบและเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค สะท้อนความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ อาทิ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อต้นทุนในการประกอบการ รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปลายปี โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านการลงทุนปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน

 

#ดัชนี SME #ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME #รายงานสถานการณ์ SME ส สว #ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ #ดัชนีคำสั่งซื้อ SME #ดัชนีการผลิต SME #ดัชนีการค้า SME #ดัชนีการบริการ SME #ดัชนีการลงทุน SME #ดัชนีกำไร SME #ดัชนีการจ้างงาน SME

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH